วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จับตาการรถไฟ ทิศทางถูก หลักการผิด

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ในที่สุด กระทรวงคมนาคมก็สามารถคลอดแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นแผนใหม่ล่าสุดออกมาได้สำเร็จ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แผนนี้ถูกมองว่า เป็นการถอยกันคนละก้าวระหว่างสหภาพการรถไฟกับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สหภาพอาจยอมให้ฝ่ายบริหารตั้งบริษัทลูกที่เรียกว่าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นรถไฟที่เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองได้ แต่ในส่วนของ 1. การบริหารจัดการเดินรถ 2. การบริหารด้านทรัพย์สิน และ 3. ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุงจะตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สำหรับแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. การปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัย อาทิเช่น การปรับปรุงความแข็งแรงของราง การจัดหาหัวรถจักรใหม่ ฯลฯ 2. การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น เส้นทางบัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 3. การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) ในระบบรางมาตรฐาน แผนงานใหม่ของการรถไฟมีความน่าสนใจ คือ

1. จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบูรณะเส้นทางเดิม 2,272 กิโลเมตร และเพิ่มเติมหัวรถจักร เป็นวงเงิน 46,000 ล้านบาท

2. ขยายโครงข่ายสายใหม่ คือ สิงคโปร์-คุนหมิง เชื่อมเส้นทางฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ เชื่อมรถไฟสายปอยเปต-ศรีโสภณ และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเชื่อมกับประเทศจีน จำนวน 2,651 กิโลเมตร วงเงิน 392,348 ล้านบาท

3. เพิ่มทางคู่เร่งด่วน 5 ปีแรก (2553-2557) 767 กิโลเมตร วงเงิน 66,110 ล้านบาท ส่วนที่เหลือปี 2558-2567 ระยะทาง 2,272 กิโลเมตร วงเงิน 258,600 ล้านบาท

4. เร่งศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หนองคาย จันทบุรี และปาดังเบซาร์ 2,675 กิโลเมตร วงเงิน 708,855 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ

5. จะนำที่ดินของรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 234,977 ไร่ ออกมาให้เอกชนเช่า

ผมยังไม่แน่ใจว่าแผนยกเครื่องการรถไฟเที่ยวนี้ จะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะ

ประการแรก ถึงแม้แผนนี้จะได้รับการยอมรับจาก ครม. เศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับในเชิงบวกจากสหภาพแรงงานแต่อย่างใด นี่ยังเป็นความเสี่ยงของการรถไฟในอนาคต

ประการที่สอง การปรับปรุงโครงสร้างและการขยายโครงข่ายสายใหม่จำนวนมหาศาลในไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใต้งบประมาณมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจจะมีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าการรถไฟจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสได้ตามที่สังคมคาดหวังไว้ ผมมีความวิตกว่าองค์กรบริหารงานที่มีวัฒนธรรมเป็นราชการ และมีกฎระเบียบที่ขาดความคล่องตัวจะบริหารธุรกิจขนาดนี้ได้อย่างไร ความเป็นราชการจะไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของโครงการข้างต้นหรือ

ประการที่สาม การบริหารที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ภายใต้หน่วยงานธุรกิจที่มีความเป็นราชการ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นขนมเค้กก้อนใหม่ของนักการเมือง กลุ่มอิทธิพล นักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟ หากไม่มีแผนงาน และกระบวนการจัดการที่ดีเพียงพอ

ผมคิดว่าขณะนี้ การเคลื่อนไหวยกเครื่องการรถไฟอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหา คือ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารของการรถไฟจะทำงานภายใต้ความคาดหวังนี้ให้ได้ดีได้อย่างไร ผมเกรงว่าถ้าหากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารไม่ระมัดระวังการบริหารจัดการในแต่ละขั้นตอนให้ดีเพียงพอ ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน และกลายเป็นความล้มเหลวของการรถไฟ และระบบการขนส่งของประเทศไทยในท้ายที่สุด พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมอดแปลกประหลาดใจไม่ได้ ที่แผนยกเครื่องการรถไฟซึ่งจะใช้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 สัปดาห์ ภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในการรถไฟขึ้น หากเข้าใจไม่ผิด ผมเข้าใจว่าแผนฉบับนี้คงจะปรับปรุงขึ้นมาจากแผนของการรถไฟเดิมที่ได้ดำเนินการเอาไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น แผนการที่ดูดีขึ้นนี้ อาจขัดกับหลักการบริหารจัดการที่ดี ที่อย่างน้อยที่สุดที่การรถไฟควรมี คือ หลักที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าแผนฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือได้มีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิเช่น สหภาพรถไฟ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เช่าที่การรถไฟ ฯลฯ มาให้ความเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากผู้บริหารการรถไฟไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการรถไฟ แผนของการรถไฟก็จะเป็นแผนที่ขาดความรอบด้าน มีแต่มิติทางด้านเทคนิค แต่ขาดมุมมองทางด้านสังคมและเสียงร้องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การบริหารโครงการต่างๆ ของรถไฟ โดยใช้หน่วยธุรกิจจะสามารถตอบคำถามในเรื่องหลักการที่ว่าด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการรถไฟให้ดีขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร ผมคิดว่าผู้บริหารการรถไฟต้องตอบให้ได้ว่าทางเลือกในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการรถไฟมีกี่ทางเลือก และเพราะเหตุใดท่านจึงเลือกทางนี้ และทางเลือกนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนใช่หรือไม่ ท่านต้องตอบคำถามนี้เพื่อทำให้ หลักที่ว่าด้วยความโปร่งใส และ หลักที่ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ ต่อผลที่จะติดตามมาจากการตัดสินใจของท่าน จะได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ส่วนหลักการสุดท้ายสำหรับการรถไฟ คือ หลักการควบคุมการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สหภาพรถไฟเกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร ฝ่ายบริหารควรอธิบายให้ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการทุจริตภายในองค์กรในอนาคตได้อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 23-11-52

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การเมืองเรื่องคอร์รัปชัน กับการล่มสลาย

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การปะทะกันเรื่องผลประโยชน์ในลักษณะของพฤติกรรม ที่มักอ้างเอาเหตุผลของผลประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ซึ่งเป็นของคนส่วนรวมในสังคม เริ่มมีภาวะที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาฝักฝ่ายคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ และรูปแบบของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ของบุคคลกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เริ่มมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็น "โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ" (tragedy of the commons) ซึ่งเกี่ยวข้องกับตรรกะของผลประโยชน์ (the logic of interest) จำนวนมากของผู้บริโภค และการจัดสรรทรัพยากรในสังคม

และครั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลั่นว่าให้ลูกพรรคเพื่อไทย ค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในฝ่ายรัฐบาลร่วมของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายในสภา อาทิเช่น ในเรื่องของการทุจริต นมโรงเรียน ทุจริตในโครงการรถเมล์ ทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข และทุจริตทุกรูปแบบที่มีข้อมูล นั่นแสดงให้เห็นว่า ประเด็นทางการเมืองที่ใช้อ้างและเป็นเครื่องมือที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดในการล้มรัฐบาลนอกจากการโจมตีด้านการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว ก็คือ "เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล" (ซึ่งเป็นสูตรที่มักถูกหยิบยกมาใช้กล่าวอ้างได้ทุกยุค ทุกสมัย อย่างมีน้ำหนัก) ทั้งนี้ เพราะในทุกรัฐบาลจะมีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดแฝงตัวอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการคอร์รัปชันนั้นจะมีความชัดแจ้ง มีขนาดของวงเงินหรือการแพร่ขยายของการทุจริตมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีคอร์รัปชันแล้ว สิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้น ชี้ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องของการคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อย่างทั่วไป แม้ว่าจะมีกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุมพฤติกรรมที่น่ารังเกียจนี้แล้ว แม้ว่าสังคมจะตระหนักรับรู้ถึงความชั่วร้าย หรือผลกระทบของการคอร์รัปชันต่อประเทศแล้ว แม้ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานจำนวนมากที่คอยดูแลสอดส่องเรื่องนี้แล้ว ตลอดจนถึงขั้นที่ให้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ก็ดูเหมือนว่าเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ มิได้ลดความสำคัญลงเลยแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการนำเอาเรื่องของการคอร์รัปชัน มาเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ของพรรคพวก และที่สุด ก็นำเอามาทำลายล้างกันในทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตน โดยจงใจที่จะละเลย และมองข้ามส่วนของผลประโยชน์สาธารณะ (ทั้งในรูปแบบที่เห็นเป็นตัวเงิน และในรูปแบบของต้นทุนทางสังคม) ของคนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไปกับการต่อสู้ คัดง้าง และแย่งชิงผลประโยชน์กันเองของบุคคลจำนวนหนึ่ง โดยเขาเหล่านั้นจะคงเหลือไว้ซึ่งความล่มสลายของสังคมให้คนรุ่นต่อไปดูต่างหน้า

ที่จริงแล้ว การทำความเข้าใจในเรื่อง "พฤติกรรมที่มีเหตุผล" (rational behavior) ซึ่งเกิดจากการปะทะกันด้านผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ นั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ อธิบายได้จากพฤติกรรมของคนบางคน ซึ่งอาจคิดหาเหตุผลได้อย่างถูกต้องว่าตนเองจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระทำที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น แม้อาจจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายในทางจริยธรรมก็ตามที ผู้กระทำผิดทราบดีว่าพวกตนสามารถรอดตัวไปได้ แม้ว่าจะทำพฤติกรรมไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะผู้ถูกกระทำผิดมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ฝ่ายสูญเสียมักกระจายกันไปในหมู่คนจำนวนมาก ทั้งตัวผู้สูญเสียแต่ละคนในสังคมซึ่งมองโดยทั่วไปก็เสียประโยชน์ไปคนละเล็กน้อย มีขนาดไม่แน่นอน และดูว่าไกลตัวเกินไปสำหรับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์กลับมา (อาจต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ยาวนาน เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นทรัพยากรของคนหลายๆ คน) ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการคอร์รัปชันยังคงอยู่ และการต่อต้านคอร์รัปชันจึงมักล้มเหลว และแน่นอนในอนาคตภัยร้ายนี้ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสังคมในที่สุด

มากไปกว่านี้ จากอดีตจนปัจจุบันของสังคมใดๆ อาจกล่าวได้ว่า ยังมีเหตุผลอีก 3 ประการ ที่อาจทำให้สังคมเกิดความล่มสลาย (Social Collapse) ได้ นั่นคือ

หนึ่ง เกิดจากจุดเริ่มต้นของปัญหาบางอย่างที่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็น เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นช้าๆ ภายใต้การผันผวนของสังคม

สอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาอยู่ห่างไกลพื้นที่ที่มีปัญหา หรือปฏิเสธข้อเท็จจริง (speculative) ในการตัดสินใจปัญหาซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตัดสินใจโดยอิงกับ "จิตวิทยาฝูงชน" (crowd psychology) และ

สาม ปัญหาอาจยากเกินกว่าขีดความสามารถ หรือศักยภาพในการแก้ปัญหาของคนในสังคมในปัจจุบัน

ผมไม่อยากเห็นสังคมไทย ต้องล่มสลายและเหลือแต่ความผุพังไว้ให้กับลูก หลานไทยในอนาคต ได้โปรดกรุณาหยุดทำร้ายชาติ หยุดการกระทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง และกลับมาเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของสังคมไทยในอนาคตดีกว่าครับ



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 09-11-52

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระทู้ถาม "การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน" (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

แหล่งข่าว ช่อง สทท. /FM 87.5 MHz

มีรายละเอียด ดังนี้

ประธาน : เชิญท่านอานิก อัมระนันทน์ ผู้ตั้งกระทู้ถาม เชิญ

อานิก : ค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งค่ะ เอ่อ ที่หาตัวท่านรัฐมนตรีมาฟังได้ค่ะ ดิฉัน อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ เอ่อ ในวันนี้จะถามกระทู้นะคะ เรื่อง การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เอ่อ ขออนุญาตท่านประธานนะคะเป็นอารัมภบท อยากจะขอแสดงแผนภูมิ เมื่อกี้เช็คกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าอันนี้ไม่ต้องเคลียร์ข้างบนนะคะ เอ่อ โอ้โห ไม่ทราบจะโคลสอัพ ได้มั้ยคะกล้อง แผนภูมิอันนี้จะแสดงถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับ..

ประธาน : ท่านได้ขออนุญาตหรือยัง

อานิก : เอ่อ ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ค่ะ

ประธาน : ครับ เปล่า ผมยังไม่เห็นเรื่องเลย เอ้า ผมอนุญาตครับ ไม่เป็นไร เชิญฮะ เร็วหน่อยก็แล้วกัน...อ่านต่อ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม www.thaigoodgovernance.org
คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง รอบแรกวงเงิน 199,960 ล้านบาท ให้กับ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข

การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้กระทรวงและหน่วย งานต่างๆ มีดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 48,078 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 45,389 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 39,900 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 14,500 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 11,515 ล้านบาท และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11,389 ล้านบาท รวม 6 กระทรวง เป็นเงิน 170,771 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของเงินทั้งหมด ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่เหลือได้รับการจัดสรรเงินรวมกันเป็นเงิน 25,785 ล้านบาท และมีรัฐวิสาหกิจอีก 6 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรร รวมเป็นเงิน 3,405 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.9 และ 1.7 ของเงินทั้งหมดตามลำดับ

แหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินโครงการมาจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท รวมถึงการกู้เงินภายในประเทศตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ

หากมองความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจในการจัดสรรเงิน งบประมาณของพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีอำนาจต่อสูง ทั้งๆ ที่มีจำนวน ส.ส.ในพรรคน้อยกว่าสองพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนากำกับดูแล อย่างเช่น กระทรวงเกษตรฯ ได้รับสรรการจัดเงินงบประมาณมากที่สุด ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับสองในรัฐบาล กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเป็นอันดับสาม ขณะที่พรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับสรรจัดงบประมาณมากเป็นอันดับสอง กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ได้รับสรรจัดเงินงบประมาณเป็นอันดับสี่ และห้าตามลำดับ

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรเงิน 11,515 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลระดับจังหวัดจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ และปรับปรุงโรงพยาบาลระดับตำบล ต่อมาได้ถูกชมรมแพทย์ชนบทร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทาง การแพทย์ ทำให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อ ตรวจสอบ ซึ่งบุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนั้น ล้วนแต่เป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับและน่าเชื่อถือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช หรือพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ ซึ่งก็น่าชื่นชมรัฐบาลที่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหานี้

แต่การแก้ปัญหาอย่างนี้ของรัฐบาล น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณน้อยกว่าอีกห้ากระทรวงหลัก และเงินก็ถูกใช้ไปเพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่เงินอีกจำนวนมากกว่า 1.43 ล้านล้านบาท จะถูกใช้จ่ายต่อเนื่องกันไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า และงบประมาณส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการตระเตรียมจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นรัฐบาลควรเน้นป้องกัน ควบคุมปัญหาการทุจริตเชิงระบบโครงการอื่นๆ ไปด้วย เพราะเชื่อเหลือเกินว่าหากรัฐบาลยังไม่มีกลไกกำกับดูแลที่ดี ปัญหาการทุจริตในโครงการนี้ก็จะทยอยโผล่ออกมาให้ประชาชนได้เห็นเป็นระยะๆ นั้นก็อาจหมายความว่า ความน่าเชื่อของรัฐบาลก็หมดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ปัญหาการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ส่วนสาเหตุที่เรื่องมาแดงในกระทรวงนี้ก่อน เพราะว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในกระทรวงมีมากกว่าข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เนื่องจากว่าบุคลากรทางการแพทย์ มีความเป็นวิชาชีพ และมีอิสระมากกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ

นักทฤษฎีคอร์รัปชัน อาทิเช่น Werner กล่าวว่า การทุจริตมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อมีช่องทาง และถ้าผู้นำประเทศไม่ให้ความสนใจปัญหาการทุจริตก็จะสูงไปด้วย ยิ่งถ้านักการเมืองขาดความซื่อสัตย์สุจริต ขณะที่ประชาชนก็ไม่เข้าใจผลกระทบจากการทุจริต รวมทั้งภาครัฐขาดระบบควบคุมการทุจริตที่ดีมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ Warioba ที่กล่าวว่า การทุจริตเกิดจากความสัมพันธ์ของเครือข่ายทางธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้นำทางการเมืองที่เป็นรัฐบาลและนักธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเชิงอุปถัมภ์ระหว่างกัน โดยนักธุรกิจให้สินบนผู้นำทางการเมืองขณะที่นักการเมืองให้สิทธิสัมปทานหรือ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจอื่นๆ ให้แก่นักธุรกิจที่เป็นพวกพ้อง

ดังนั้น ปัญหาการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลละเลยปัญหา ไม่จริงจังดำเนินการ เพื่อป้องกันแก้ไขในเชิงระบบ รัฐบาลไม่ควรมองว่า การทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นเท่า นั้น แต่รัฐบาลควรมองกระบวนการทุจริตทั้งหมดอย่างเป็นระบบและหาทางแก้ไขมากกว่า อาทิเช่น การตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ เป็นกลางมาตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งคู่ขนานไปกับฝ่ายการเมืองที่รัฐบาลตั้ง ขึ้นก่อนหน้านั้น อาจจะทำหน้าที่คล้ายกับ คตส. ก็ได้ แต่ขอให้มีอิสระในการตรวจสอบ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบสิ้นสุดแล้ว ให้เสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อการตัดสินใจเชิงบริหารในฐานะผู้นำประเทศต่อไป

เผยแพร่ครั้งแรกที่: กรุงเทพธุรกิจ 26-10-52

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไมต้องหยุดใช้การประมูลแบบอีออคชั่น กับโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน

โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค

ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การประมูลแบบอีออคชั่น มาจากคำเต็มภาษาไทย ว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (eAuction) ระบบนี้ คือ การให้ผู้ขาย หรือผู้รับเหมางานราชการ ไม่ต้องมายื่นราคาแบบใส่ซองปิดผนึก แต่ให้เสนอผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยนั่งเคาะราคาแข่งประมูลกันได้หน้าจอ คอมพิวเตอร์ ใครเคาะราคาต่ำสุดก็จะได้งานไป

อีออคชั่น ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2549 ในยุครัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในยุคที่นายกรัฐมนตรีสั่งแล้ว ข้าราชการผู้ใดไม่รีบดำเนินการ ก็จะมีภัย ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่เร่งรีบใช้ อีออคชั่นกับงานจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ตั้งแต่วงเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า งานประมูลก่อสร้าง สัญญา แสนล้าน ทำรถไฟใต้ดิน หรือสร้างสนามบินใหม่ หรือจะเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ก็จะใช้วิธีเคาะเสนอราคา วิธีเดียวกันทั้งหมด โดยข้าราชการต้องรีบทำ ไม่กล้าทักท้วง แม้รู้ว่าผิดก็ต้องทำไปก่อน เช่นคำที่นายกฯ ทักษิณใช้เรียกว่า อีออคชั่น นั้นก็ผิดไม่ถูกต้องก็ไม่มีใครกล้าทักท้วง ที่จริงคำว่า ออคชั่น (Auction) นั้น ใช้กับการประมูลแข่งขันราคาเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด อาทิเช่น ใช้ในการประมูล ภาพเขียน ประมูลซื้อของส่วนตัวคนสำคัญ เป็นต้น แต่เวลาที่นำมาใช้กับการประมูลงานราชการ เราจัดประกวดราคาเพื่อให้ได้ คนที่จะเสนอราคา ค่าทำงาน หรือจัดสินค้าให้ราชการในราคาต่ำสุด ในที่สุด ก็ต้องแก้คำศัพท์ให้ถูกต้อง โดยต้องให้มีชื่อที่ท่านนายกฯ ได้มีการตั้งชื่อไว้แล้วว่า อีออคชั่น ต้องยังคงอยู่ โดยให้เติมไปเป็น คำว่า "รีเวิร์ส อีออคชั่น" (Reverse e-Auction)

แม้แต่ธนาคารโลก ก็ยังประหลาดใจในระบบอีออคชั่น แบบไทยๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยได้ชี้ว่าประเทศไทยต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัด จ้างด้วยวิธีประมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรืออีออคชั่นใหม่ เพราะวิธีอีออคชั่นของไทยแตกต่างจากต่างประเทศในโลกมาก ที่ใช้ระบบอีออคชั่นกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้เฉพาะการจัดซื้อครุภัณฑ์ ทั้งยังไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงินและแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่สำคัญ แม้จะใช้วิธีนี้เมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิด ระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ผู้แทนธนาคารโลกจึงแนะนำให้ใช้วิธีอื่น

หลักการที่ไทยนำมาใช้ ที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล (ฮั้ว) ก็ไม่ได้ผล เมื่อนำมาใช้ ก็เกิดปัญหา ยิ่งกว่าระบบ เปิดซองประมูลเดิม ฮั้วได้สะดวก ยิ่งกว่าเดิม เพราะการทำระบบอีออคชั่นจริงๆ แล้ว ในปัจจุบันจะเป็นระบบ ที่ผู้เสนอราคาต้องไปรวมตัวกันในสถานที่ที่กำหนด คือ ตลาดกลาง แล้วไปนั่งในห้องที่มีคอมพิวเตอร์ให้เคาะราคากัน ดังนั้น ก็ไม่แตกต่างกับการต้องไปปรากฏตัวยื่นซองประกวดราคาตามแบบเดิม และมีการตกลงสมยอมราคาก่อนเริ่มต้นประมูลที่ตลาดกลางกันได้สะดวก เห็นได้ชัดจากว่าผลการเคาะราคาประมูลงานก่อสร้าง ภายหลังการใช้ระบบอีออคชั่น ผู้ชนะงานก่อสร้างมักจะมีราคาใกล้เคียงกับราคากลาง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในการประมูลแบบยื่นซองยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนจากหนึ่ง ในหลายร้อยผลการประมูล อาทิเช่น ผลการประมูลแบบอีออคชั่น ในงานก่อสร้างถนนลาดยาง ที่จังหวัดชัยนาท เมื่อมีนาคม 2551 ที่มีราคากลาง 5,000,000 บาท

มีผู้เข้าประมูลเคาะราคา 4 ราย รายที่ชนะประมูลไปเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางไปเพียง 1,000 บาท (เสนอ 4,899,000) ผู้เสนอรายที่ 2 สูงกว่าผู้เสนอรายที่ 1 เพียง 500 บาท (เสนอ 4,899,500) ผู้เสนอรายที่ 3 (เสนอ 4,899,700) และผู้เสนอรายที่ 4 (เสนอ 4,899,900) ราคาต่างกันเพียง 200 บาท ผลแบบนี้แสดงว่าไม่ได้มีการแข่งขันกันอย่างแน่นอน เรียกกันว่า งานนี้ฮั้วกันสำเร็จ

ผลการประมูลทั่วประเทศ ก็ไม่ต่างจากตัวอย่างที่นำมาให้ดูนี้เท่าใดนัก หาดูได้อีกมากจากผลการประมูลทั่วประเทศ ที่จะมีประกาศในเว็บของหน่วยราชการนั้นๆ เป็นการแสดงความโปร่งใสของผู้บริหารว่าไม่มีเจตนาจะปกปิดผลการประมูล แต่ก็ไม่ช่วยให้การโกงหมดไป หากยังใช้ระบบอีออคชั่น อยู่ที่เอื้อต่อการฮั้ว มากกว่าเดิมเสียอีก

ปัญหาในการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ อีออคชั่น ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ยังมีอีกมาก ที่หลายฝ่ายทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำลังร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ทราบปัญหาที่วงการธุรกิจประสบอยู่ โดยยอมรับว่าระบบอีออคชั่นนั้นมีประโยชน์ และใช้ได้กับการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นของประเภทครุภัณฑ์มาตรฐาน (Common Goods) อาทิเช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระดาษ ซึ่งไม่มีความซ้ำซ้อนและไม่มีวงเงินสูง ดังเช่นที่นานาชาติใช้อยู่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับงานการประมูลก่อสร้าง ซึ่งมีรายละเอียดรายการราคาต่างๆ นับพันรายการในโครงการเดียวกัน งานการประมูลจัดซื้อประเภทสินค้าและบริหารสินค้าเทคโนโลยี และงานการประมูลจัดซื้อพัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาทิเช่น สินค้าเวชภัณฑ์ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอให้ยกเลิกการใช้ระเบียบอีออคชั่นกับงานก่อสร้างไปเลย ทั้งยังให้ข้อมูลว่าการดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนของอีออคชั่น ที่อ้างว่าจะประมูลได้รวดเร็ว กลับเป็นงานเพิ่มเติมที่ซ้ำซ้อนและล่าช้าโดยไม่จำเป็น ในงานก่อสร้างหลายประเภทที่มี มีการจัดชั้นผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้แล้ว มีแบบก่อสร้าง และทีโออาร์ ที่เป็นมาตรฐานไว้ครบถ้วนแล้ว

โครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน เป็นตัวอย่างใหญ่ ระดับวงเงิน 5-6 หมื่นล้านบาท อีกอันหนึ่งของประเภทงานการประมูลจัดซื้อพัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่เฉพาะการร่างคุณสมบัติรถเมล์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ ขสมก ต้องการ หรือทีโออาร์ (Term Of References) ยังต้องแก้กันมาถึง 11 ครั้งแล้ว ก็ยังมีจุดที่ยังถกเถียงกันอยู่ โครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน นี้ ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะใช้การประมูลแบบ eAuction ที่ตามระเบียบแล้ว แม้มีผู้เข้าประมูลเพียง 2 ราย ก็พอเพียงเริ่มเคาะราคากันได้แล้วในวันประมูล 2 รายนี้จะรู้กันเองก่อนแล้วว่าใครเป็นใครก่อนวันประมูลแน่นอน เพราะจะต้องผ่านขบวนการคัดเลือกประกาศชื่อว่าผู้ใดจะมีสิทธิ เข้าเคาะราคา ลองวาดภาพในวันประกวดราคา ที่ผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 2 ราย ก็จะต้องไปเจอหน้ากันที่ศูนย์การประมูลกลาง ไปนั่งอยู่ตู้กระจกข้างๆ กัน เคาะราคาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 5 เมตร ซึ่งเคาะราคาแบบนี้น่าจะทำได้ ด้วยการยกป้ายราคาชูขึ้นเป็นครั้งๆ ก็ไม่ง่ายกว่าหรือเดาไว้ก่อนว่าผลการเคาะราคาที่ต่ำสุดจะออกมาแตกต่าง จากราคากลางแบบเฉียดฉิวไม่ถึง 1% ตามตัวอย่างที่ยกมาให้ดู ถ้าราคากลาง 60,000 ล้าน ต่ำสุดน่าจะออกมาด้วยวิธีอีออคชั่นนี้ที่จะได้สัญญาก้อนใหญ่ไปในราคา 99% ของราคากลาง หรือเท่ากับ 59,400 ล้าน ที่ผ่านมาสถิติการประมูลงานก่อสร้างที่ใช้ระบบนี้ ผู้รับเหมาที่ชนะก็มักจะได้ราคาใกล้เคียงราคากลางแบบเฉียดฉิวแบบนี้เป็น ประจำ

เราจะยังจะยังยินยอมให้ใช้อีออคชั่น กับงานเช่ารถเมล์ระดับมูลค่า 60,000 ล้านนี้ อีกต่อไปไหม

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 12-10-52

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ยกเครื่องรถไฟไทย

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์

ศูนย์ริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตอบคำถามในเว็บไซต์นายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ถามท่านเรื่องการปรับปรุงการรถไฟของไทย ว่า "ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้าง ร.ฟ.ท. และยังยืนยันแนวคิดในการแยกการบริหาร ร.ฟ.ท. ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เรื่องของราง การเดินรถ และการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยืนยันว่าไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอางานส่วนใดส่วนหนึ่งไปแปรรูปให้เอกชนเป็นเจ้าของ..."


ผมคิดว่าหนึ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหมดจากจำนวน 58 แห่งทั้งประเทศ ที่มีปัญหาประสิทธิภาพและที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลมากที่สุด คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ปัญหาใหญ่ๆ ของ ร.ฟ.ท. ในขณะนี้ จากมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คือ


ประการแรก การปรับเปลี่ยนบทบาทขององค์กรค่อนข้างล่าช้า ในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่ถือกำเนิดขึ้นของกิจการรถไฟ องค์กรนี้อยู่ภายใต้สังกัด "กรมรถไฟ" ของกระทรวงโยธาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนเป็น "กรมรถไฟหลวง" ในระยะเริ่มต้นนี้กิจการรถไฟเป็นหน่วยงานราชการ


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารโลกได้เสนอให้รัฐบาลไทยปรับปรุงกิจการรถไฟให้มีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ และมีความคล่องตัวเหมือนธุรกิจเอกชน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เสนอ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กิจการรถไฟซึ่งเคยบริหารงานแบบราชการ จึงกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" กระนั้นก็ดี เกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ระบบ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และการกำกับดูแลภายใน ร.ฟ.ท. ยังไม่สามารถหลุดพ้นออกจากความเป็นราชการได้


ดังจะเห็นได้จาก ร.ฟ.ท. ซึ่งเริ่มต้นขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้ว จนกระทั่งในปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มียอดการขาดทุนสะสมสูงถึงประมาณ 70,000 ล้านบาท และหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างขนานใหญ่ คาดได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยอดขาดทุนนี้จะสูงถึงกว่า 100,000 ล้านบาท การขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของกิจการรถไฟแทบไม่ใคร่ได้รับการดูแลรักษา และมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น


ประการที่สอง การขาดความต่อเนื่องทางด้านนโยบาย ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มี รมว. คมนาคม 7-8 คน มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการการรถไฟกว่า 10 คณะ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยๆ อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ และการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่มาดูแลการรถไฟบ่อยๆ ก็อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน แต่การที่ไปเปลี่ยนคณะกรรมการรถไฟทุกๆ ครั้ง ที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะทำให้การทำงานของคณะกรรมการขาดความต่อเนื่อง และทำให้งานใหญ่ๆ ไม่อาจริเริ่มและดำเนินการต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง


ผมคิดว่าปัญหาของ ร.ฟ.ท. ที่หมักหมมจนเน่าเสียอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง และปัญหาของนักการเมืองโดยตรง เพราะการเปลี่ยนตำแหน่ง รมว.คมนาคม กับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการรถไฟในทุกๆ ครั้ง มักจะกลายเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องที่ รมต. ตั้งกรรมการรถไฟในลักษณะที่เป็นการให้รางวัลตอบแทนทางการเมือง หรือตั้งสมัครพรรคพวกเข้ามาช่วยดูแลผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ มากกว่าจะรับบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่จะเข้ามาพัฒนา ร.ฟ.ท. ผมคิดว่ายอดขาดทุนรถไฟที่สูงขนาดนี้ หากเป็นธุรกิจเอกชนคงถูกฟ้องล้มละลายไปแล้ว


ประการที่สาม การมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการให้บริการการขนส่งทางรถไฟกับการขนส่งทางถนนและทางน้ำ การขนส่งทางรถไฟจะมีบทบาทน้อยกว่ามาก กล่าวคือ ในแง่ของการบริการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด รถไฟมีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 16 ส่วนในแง่ของการขนส่งสินค้า ในปี พ.ศ. 2549 การขนส่งสินค้าทางรถไฟคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.3 ของปริมาณการขนส่งทั้งหมด ในขณะที่การขนส่งทางถนนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 85.5 การขนส่งทางน้ำภายในประเทศร้อยละ 6.2 การขนส่งทางทะเลร้อยละ 6.0 และการขนส่งทางอากาศร้อยละ 0.01


ประการที่สี่ การกำกับดูแลของคณะกรรมการการรถไฟ การที่ฝ่ายนโยบายมีอำนาจเหนือฝ่ายกำกับดูแล และฝ่ายบริหารของ ร.ฟ.ท. มาโดยตลอด ทำให้คณะกรรมการการรถไฟไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง การกำกับดูแลของคณะกรรมการ จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ซึ่งขาดความโปร่งใส ขาดการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งขาดประสิทธิภาพในการทำงานโดยตลอด
ประการที่ห้า ทัศนคติของฝ่ายบริหารและพนักงาน ที่ควรให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ ร.ฟ.ท. โดยทั่วไปประชาชนถือเป็นผู้เสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล และรัฐบาลได้นำภาษีอากรเหล่านี้มาอุดหนุนกิจการรถไฟเป็นเวลาประมาณ 120 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 30-40 ปี สุดท้ายนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องให้การอุดหนุนกับการขาดทุนของ ร.ฟ.ท.เป็นอย่างสูงมาโดยตลอด ร.ฟ.ท. ควรตระหนักว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้โดยสารของ ร.ฟ.ท. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการ ร.ฟ.ท. ฉะนั้น ร.ฟ.ท. จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความคาดหวังของประชาชนต่อ ร.ฟ.ท. อย่างจริงจัง


ผมเห็นว่าแนวความคิดของคุณอภิสิทธิ์ในการปรับปรุงโครงสร้างของ ร.ฟ.ท. เป็นเรื่องที่สมควรได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกิจการรถไฟให้กลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการขนส่งด้วยราง และมีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพในระดับสูงมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยาวนานตามสมควร สิ่งที่ ร.ฟ.ท. ต้องการในขณะนี้ ก็คือ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายที่เหมาะสม การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรที่อยู่บนหลักของการมีธรรมาภิบาล


เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 28-09-52

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ทรงศักดิ์ยันเนวินเข้าฟังชี้คดีกล้ายางแน่

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม -->> คดีกล้ายาง

13 คดีคอร์รัปชั่น ที่ดำเนินการตรวจสอบโดย คตส.

เอกสารประกอบการเสวนา "วันนี้ของ คตส. กับก้าวที่สองของการพัฒนาธรรมาภิบาล" เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

(1) การจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด CTX (รวมสายพานลำเลียง)
(2) ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ
(3) ภาษีเงินได้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น (หุ้นชินคอร์ป)
(4) เงินกู้ (EXIM BANK)
(5) การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว
(6) การจัดซื้อกล้ายาง
(7) การจ้างก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์เซ็นทรัลแล็ป (บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เกษตรและอาหาร จำกัด)
(8) แอร์พอร์ตลิงค์
(9) การปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ -กฤษดามหานคร
(10) การจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดยการเคหะแห่งชาติ / บ้านเอื้ออาทร
(11) ร่ารวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาทโดยประมาณ / แปลงภาษีสรรพสามิต
(12) การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.
(13) การจัดซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟู (ที่ดินรัชดาภิเษก)

โดย ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

ธุรกิจบาปโดยรัฐกับแหล่งผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ที่ใช้เป็นหลักและอ้างอิงอยู่เสมอ คือ ความหมายของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งสรุปไว้ว่า รัฐวิสาหกิจ คือ องค์กรของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 (เช่นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ) ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงเป็นหน่วยงานทางธุรกิจ หรือกิจการของรัฐที่มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึงเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล จากภารกิจของรัฐวิสาหกิจข้างต้น จึงทำให้รัฐวิสาหกิจ มีลักษณะองค์การและการดำเนินงานที่มีลักษณะผสมระหว่างกิจการเอกชนต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงานและมีเป้าหมายคือกำไรในการดำเนินงานอันเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจกับการเป็นหน่วยงานของรัฐแบบมหาชนซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐที่ต้องดำเนินการต่างๆ ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของกฎหมายและมีเป้าหมายคือผลประโยชน์ต่อส่วนรวมอันเป็นเป้าหมายทางสังคมอีกประการหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนธุรกิจหลากหลายที่รัฐลงมือร่วมดำเนินการ (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ยังคงมีธุรกิจอีกบางประเภทที่รัฐต้องดำเนินการเสียเองด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ลักษณะของธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านศีลธรรมหรือสุขภาพของประชาชน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล และโรงงานยาสูบ ซึ่งด้วยนัยแห่งเหตุผลนี้เอง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงได้ดำเนินการบริหารจัดการธุรกิจผูกขาดทั้งสองแห่งนี้ไว้เอง และธุรกิจของรัฐที่ดำเนินการนี้ก็สามารถที่จะส่งเงินเข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเสมอต้นเสมอปลายด้วยดีตลอดมา กล่าวคือ ผลการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจประจำเดือนสิงหาคม 2552 ในสาขาอุตสาหกรรมจำนวน 2,201.80 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากโรงงานยาสูบจำนวน 2,000 ล้านบาท และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 201.80 ล้านบาท) ในสาขาพาณิชย์และบริการจำนวน 1,043 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจากการจำหน่ายสลาก 1,030.40 ล้านบาท และเงินรางวัลค้างจ่ายสลากบำรุงการกุศล 12.60 ล้านบาท) (ประชาชาติธุรกิจ วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ.2552) ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าธุรกิจบาปสามารถทำเงินเข้ารัฐได้เป็นจำนวนมหาศาล และนี่คือภาพที่ประชาชนทั่วไปมองเห็น จนบางคนเกือบลืม..คิดถึงส่วนที่เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งธุรกิจลักษณะนี้ก็ได้สร้างและบ่มเพาะปัญหาทางสังคมหรือสุขภาพขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย มากไปกว่านั้นยิ่งหากจะขุดและเจาะลึกถึงปัญหาภายในองค์กรด้วยแล้วมันยิ่งเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ที่มีมูลค่าอีกเป็นจำนวนมาก ที่นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ (ทุกยุคทุกสมัย) สามารถแสวงหาผลประโยชน์ในธุรกิจบาปของรัฐที่ไม่มีใครสนใจนี้ได้อย่างแนบเนียน โดยสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการบริหารจนถึงผู้ที่ต้องการผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีแรก เป็นกรณีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรื่องโควตาการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่ต้องการจำหน่ายสลาก (ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปอยู่ที่รายใหญ่อยู่ดี) ปัญหาการขายสลากราคาแพง ปัญหาการออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว ปัญหาการเมืองภายในองค์กร ตลอดจนการแทรกแซงทางการบริหารของนอมินีทางการเมือง ฯลฯ จนปัจจุบันหากจะจัดสรรแบ่งผลประโยชน์กันใหม่อย่างเป็นธรรมก็คงดำเนินการยาก เพราะรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว (ทั้งโควตาสลากกินแบ่งและผู้ที่จะค้าสลากชนิด 2 ตัว 3 ตัว) ส่วนการที่กองสลากจะสำรวจว่าใครขายจริงหรือไม่ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก (เพราะต้องใช้งบประมาณสูงและเมื่อสำรวจไปก็เจอผู้มีอิทธิพล) ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปการแก้ปัญหาในกรณีกองสลากนี้ ก็อาจสรุปได้ว่าผู้มีอำนาจจะเลือกไม่แก้ไขหรือแก้ไขให้ล่าช้าเพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ที่สำคัญกว่าก็คือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาก็จะได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งในทางทฤษฎีอาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายของการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption)

อีกกรณีก็น่าสนใจ กรณีนี้เกิดในธุรกิจยาสูบซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ในกรณีนี้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์แบบนิ่มๆ ดำเนินการกันมานาน มีการวางแผนกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการสมคบคิดกันระหว่างผู้เสนอผลประโยชน์และผู้บริหารองค์กร ทำกันตั้งแต่การชงเรื่อง ตั้งเรื่อง การเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจนถึงขั้นตอนของการอนุมัติ โดยมีอดีตผู้บริหารและเครือข่ายกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงเป็นผู้ร่วมดำเนินการ กับผู้ค้ารายหนึ่ง ซึ่งโดยรวมแล้วทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปกว่าพันล้านบาทต่อปี (รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการวางแผนการขจัดบุคคลผู้ขัดผลประโยชน์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันผู้บริหารให้ลาออก จากกรณีการปรับโครงสร้าง การบริหารโรงงานยาสูบให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยแท้จริงมีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องของโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ส่วนเรื่องของการบริหารงานภายในองค์กร ก็เป็นปัญหาทางการเมืองตั้งแต่คณะกรรมการบริหารจนถึงตัวผู้บริหารบางฝ่ายงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มอำนาจเดิม ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดระหว่างบุหรี่ไทยกับบุหรี่ต่างประเทศไว้ได้ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้เสพมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อย และกลุ่มผู้ค้าระดับต่างๆ ก็มีความสามารถในการดำเนินการได้ (ถ้าได้รับความเป็นธรรมทางการค้าที่เสมอกันทุกราย ซึ่งผู้บริหารไม่มีการแก้ไขปัญหานี้มากว่า 2 ปีแล้ว)

ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปในกรณีปัญหาของโรงงานยาสูบแล้ว ก็สรุปได้เช่นเดียวกันว่าผู้มีอำนาจเลือกที่จะไม่แก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพราะผู้เสนอผลประโยชน์ยินดีจ่ายเสมอไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลใด ส่วนผู้รับประโยชน์ก็ไม่ต้องทำอะไรเพราะระบบได้คอร์รัปชันไปแล้ว (อยู่เฉยก็ได้ประโยชน์) ที่สำคัญเอาไว้ขอการสนับสนุนเมื่อต้องการงบอำนวยการจากโรงงานยาสูบจะดีกว่า ซึ่งกรณีนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption) ด้วยเช่นกัน เห็นหรือยังครับว่า ธุรกิจบาปของรัฐเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ไม่เคยมีใครสนใจจริงๆ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 14-09-52

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปัญหาการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสังคมไทย

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

การทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไทยจากอดีตจวบจนปัจจุบันถูกมองจากสังคมว่า ได้กลายเป็นปัญหาวิกฤติอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนมาช้านาน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่อำนาจบริหารของรัฐบาล และเป็นตัวแทนของอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทางในกระบวนการสรรหาของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ด้วย จึงทำให้นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งข้าราชการและนักธุรกิจมีโอกาสเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรมตามขั้นตอนต่างๆ ได้เพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องด้วย


ซึ่งแต่เดิมนั้นกระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ใช้ระบบเดียวกับการดำเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นและบุคคลธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามี 2 ประเภท คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีโดยชอบแล้ว ส่วนผู้เสียหายนั้น แม้จะนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้เองก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย กล่าวคือ หากเป็นคดีที่ผู้ต้องหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งโดยสภาพรัฐเท่านั้นเป็นผู้ได้รับความเสียหาย บุคคลอื่นจะนำคดีนั้นมาฟ้องเองไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการดำเนินคดีอาญาที่ใช้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั่วไปมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังกล่าวจึงไม่ได้ผล เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการนำตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบมาลงโทษ เพราะเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อน ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอิทธิพลและบารมี อีกทั้งระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติทั่วไป ที่ให้ฝ่ายผู้กล่าวหาเป็นผู้พิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยศาลจะต้องวางตัวเป็นกลาง ก็ไม่อาจจะเป็นฝ่ายค้นหาข้อเท็จจริงเองได้ง่ายนัก


แม้ว่าต่อมาจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเป็น "คณะกรรมการพิเศษ" ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 324 และ 325 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 แต่คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งกำเนิดขึ้นในยุคเผด็จการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการที่วางไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพลเรือนของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ขึ้นมาดำเนินการ แต่การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอิสระและอำนาจในการวินิจฉัยภายหลังจากที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 26 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) เพื่ออายัดทรัพย์สินของนักการเมืองที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติมาเป็นของแผ่นดิน แม้ได้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน


จนกระทั่ง เมื่อประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ก่อกำเนิดรูปแบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจัดการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นโดยเฉพาะ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้ปรับปรุงระบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นใหม่อีก โดยพยายามอุดช่องว่างของปัญหาที่เคยเกิดในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540


จนถึงปัจจุบันศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาไปแล้วรวม 5 คดี คือ ในปี 2544 คดีนายจิรายุ จรัสเสถียร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,90,148,157 ในปี 2546 คดีนายรักเกียรติ สุขธนะ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ในปี 2548 คดีพลตำรวจเอกวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,158 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 125 ในปี 2550 คดีอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันมีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียจากการเข้าไปประมูลทรัพย์สินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100,122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157
นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีคดีนายวัฒนา อัศวเหม ว่าด้วยความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนในปี 2551 ก็มีคดีรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยความผิดฐานการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550


ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคู่ขนานไปกับการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม มุมมองใหม่ๆ ที่ว่านั้น อาจเป็นมุมมองเชิง "นิติ-เศรษฐศาสตร์" โดยเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทฤษฎีทางนิติศาสตร์กับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน เพื่ออธิบายพฤติกรรมและรูปแบบการทุจริต ควบคู่กับการสร้างกลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อควบคุมการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด


เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 31-08-52

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกิดอะไรขึ้นที่มาบตาพุด?

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

เกิดอะไรขึ้นที่มาบตาพุด?
เป็นคำถามที่หลายฝ่ายได้ถามกับภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขึ้นเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2523
คำถามข้างต้นถี่ขึ้นและมีเสียงดังมากขึ้นตามลำดับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ภาครัฐตกอยู่ในภาวะที่ตั้งรับแบบกระท่อนกระแท่น ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ

ที่พูดเช่นนี้ได้ก็เพราะมีกรณีที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นคดีต่อศาลปกครองในกรณีอนุญาตให้มีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยการอนุมัติของ กนอ. โดยศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ให้ กนอ.ชำระค่าตอบแทนต่อเทศบาลเมืองมาบตาพุดเป็นเงินจำนวนมากถึง 400 ล้านบาท เป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันที่ไม่ไปด้วยกัน หรือไปไม่พร้อมกันขององคาพยพของรัฐระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

ปี 2549 (25 ปีหลังจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก) ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

และต่อมาก็ได้มีการยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ให้ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ของมาบตาพุดและเมืองระยองบางส่วน เป็นเขตควบคุมมลพิษตามแนวทางของกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ในเรื่องนี้ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ให้ท้องที่ของเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 กรณีนี้ก็เป็นการสะท้อนการไม่ไปด้วยกันของภาครัฐ/ภาคนอกรัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มีการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว (ผ่านอีไอเอแล้ว/มีการดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของอีไอเอแล้ว)

อีกฝ่ายหนึ่งมีคำถามว่า ทำไมจึงมีการเจ็บป่วยและความเดือดร้อนของชุมชนโดยรอบอยู่เนืองๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นการสะท้อนการไม่เชื่อมั่นในมาตรการหรือกลไกที่รัฐกำกับดูแลเป็นการแสดงออกถึงความต้องการที่จะขอเข้ามามีส่วนร่วม (Part-Taking) ในการจัดการในเรื่องนี้ เป็นการแสดงออกโดยทางตรง โดยผู้แทนของชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นๆ โดยไม่อาศัยบทบาทหรือสถานะของผู้แทนในระบบการเมืองที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. ส.ท. ส.อบต. หรือตัวแทนประเภทใดก็แล้วแต่ที่มีอยู่แต่เดิมเป็นลักษณะการแสดงออกทางการเมืองแบบทางตรง (Direct Democracy) โดยใช้ช่องทางหรือกลไกอื่นของรัฐที่มีอยู่ในที่นี้คือศาลปกครอง ที่ตนเองสามารถใช้การได้โดยตนเองในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการดำเนินการตามวิถีการเรียกร้องให้นับรวมเอาปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารจัดการประเทศ ตามครรลองของการเมืองภาคพลเมืองโดยการชุมนุม

โดยการขัดขวาง โดยการล้อเลียน ฯลฯล่าสุด 19 มิถุนายน 2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรี 5 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง กนอ.

เพื่อเรียกร้องให้การพิจารณาอนุมัติอีไอเอเป็นไปตามความในมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้องค์กรอิสระที่มีผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาให้ความเห็นรองรับก่อนจะมีการดำเนินการความก้าวหน้าในเรื่องนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้คู่กรณีไปจัดทำแผนที่ตั้งโรงงานทั้ง 76 โรงงาน ว่ามีที่ตั้งอยู่ที่ใดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก่อนที่ศาลจะมีดุลพินิจสั่งการประเด็นปัญหาทั้ง 3 กรณีข้างต้นนั้นห้อมล้อมอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาอนุมัติการจัดทำมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าอีไอเอ ซึ่งเป็นมาตรการที่ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในปี 2535 (ปีที่ประกาศใช้บังคับกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535)

แต่กำลังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลและกำลังถูกแทนที่ด้วยมาตรการที่ใหม่กว่าตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือ บทบาทขององค์การอิสระและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เพิ่มเติม/ตรวจสอบ/สอบทาน/คานความเห็นกับความคิดเห็นของผู้ชำนาญการ และกระบวนการพิจารณาอนุมัติของอีไอเอ เท่ากับว่าสังคมไทยได้พากันเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งที่เคยยืนอยู่ตามกติกาที่เคยยึดอยู่แต่เดิม เป็นการขยับตัวทางสังคมตามกรอบความคิดของ Gilles Deleuze และ Felix Guattari ที่พูดถึงเรื่องเส้นแบ่ง/เขตแดนกำลังเปลี่ยนแปลงของสังคมที่แต่เดิมเคยยอมรับซึ่งในที่นี้ก็คือเรื่องของการพิจารณาอนุมัติอีไอเอ

ในประเด็นความคิดเห็นของผู้ชำนาญการ ที่กำลังถูกตั้งคำถามและนำไปสู่การกำหนดกติกากันขึ้นใหม่ โดยเป็นความคิดเห็นขององค์การอิสระและสถาบันอุดมศึกษาหรือพูดได้ว่า สังคมกำลังลบเส้นแบ่ง/เขตแดนเดิมทิ้งไป (Deterritorialization) และกำลังลากเส้นแบ่งและเขตแดนกันขึ้นใหม่ (Reterritoralization) ขึ้นมาแทนสภาวะทางสังคมเช่นนี้ จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาว่า จะนับว่าตรงไหนเป็นจุดสิ้นสุดของกฎเกณฑ์เดิม และตรงไหนเป็นจุดเริ่มต้นของกติกาที่สร้างขึ้นใหม่ และกระบวนการแทนที่ของกติกาใหม่ย่อมไม่เป็นไปแบบราบเรียบอย่างแน่นอน

เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายใดเป็นผู้ได้รับหรือเสียประโยชน์จากกติกาเดิม/ใหม่อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดจะต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย(1) ภาครัฐที่เป็นหน่วยงานด้านกำกับดูแลที่จะต้องเร่งรัดการสร้างกติกาใหม่แทนกติกาเก่า (2) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุมัติอีไอเอไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่ควรได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ/เงื่อนไขเดิมความเห็นในลักษณะนี้จะสอดคล้องกับแนวการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ที่มีความเห็นว่า การดำเนินตามมาตรา 67 นั้น

รัฐจะต้องกำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติเสียก่อนโดยอิงความตามมาตรา 303 ประกอบกัน ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายก็ย่อมต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายเดิม (กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535) ไปก่อนแต่ในขณะเดียวกัน การจะปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น (ในระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลปกครอง) นั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ไม่ควรจะละทิ้งประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบ ไม่ควรจะต้องรอจนกระทั่งมีการปรับปรุงข้อกฎหมายจนเป็นที่แล้วเสร็จแบบแป๊ะๆ และจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบและนำพาต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีการริเริ่มดำเนินการโดยคำแนะนำ ตรวจทาน ตรวจสอบมาตรการการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยสถาบันที่ทำหน้าที่ในทำนองเดียวกับมาตรา 67 ไปพลางก่อน

ย่อมจะเป็นการสร้างภาคปฏิบัติการร่วมกันภายใต้เงื่อนไขใหม่ เส้นแบ่งใหม่/เขตแดนใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างแท้จริง เป็นการสร้างสังคมที่ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมสร้างอย่างแท้จริง

เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชน 23-08-52

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มาร่วมกันเป็น สายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
ศูนย์บริการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ในที่สุด เม็ดเงินสำคัญ 800,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องการก็ได้ผ่านขั้นตอนสำคัญ คือ การผ่านร่างกฎหมายทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ผ่านจากทั้ง 2 สภาแล้ว แต่ภัยที่ร้ายแรงต่อความสำเร็จในโครงการนี้ และเป็นภัยร้ายแรงต่อความอยู่รอดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองยังมีอีก


นั่นก็คือ การป้องกันไม่ให้ เงิน 800,000 ล้านบาท รั่วไหลและถูกการทุจริตนำไปใช้ในผิดที่ผิดทางจนไม่ได้ผลในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการ และรัฐบาลอาจไม่อยู่รอดจนใช้เงินครบ ที่ตั้งใจไว้


วุฒิสภาได้ติงไว้ว่า รัฐบาลยังขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเดิมเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ จะไม่มีส่วนในการตรวจสอบเลย กลายไปเป็นอำนาจตรวจสอบกันเองของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล


วุฒิสภา ในที่สุดก็ได้รับการอธิบายจนมีความเชื่อมั่น ว่า จะมีระบบที่ดูแลการใช้เงินให้ปลอดการคอร์รัปชันได้ ตามที่ฟังคำมั่นจากนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้คำมั่นกับสมาชิกวุฒิสภาว่า จะกำกับดูแลไม่ให้มีการทุจริตในโครงการต่างๆ พร้อมย้ำอย่างมั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกได้แน่นอน


นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตที่ยังเป็นฝ่ายค้านมีคนถาม ว่า ถ้ามีอำนาจแล้วจะรับประกันได้หรือไม่ว่า จะไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ท่านตอบว่าไม่รับประกันว่าจะแก้ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่า ถ้าผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยกันดูแลรัดกุม การทุจริตจะมีน้อย แต่ถ้ามีก็จะไม่ปล่อยไว้แน่ และจะแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย


ความจริงที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทราบอยู่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันคอร์รัปชันของระบบราชการไทยในขณะนี้ยังไม่ได้ผลนั่นเองจึงไม่กล้ารับประกัน และที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ เงินกู้ 800,000 ล้านบาทนี้ ก็เป็นระบบการใช้เงินแบบใหม่ ที่ยังไม่มีระบบป้องกันและตรวจสอบที่ดีนั่นเอง


ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าสำนักงบประมาณ จะยังเป็นผู้กำกับดูแล ตั้งแต่ขั้นการตรวจสอบโครงการ ขั้นประมูล และทำราคากลางที่จะใช้ในการประมูล ฉะนั้นจะไม่แตกต่างจากระบบปกติ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นภาพไปในทางร้ายเหมือนๆ เดิม มากกว่าจะให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยมีปัญหา แม้การนำระบบใหม่ๆ เข้ามา อาทิเช่น ระบบการประมูลทางอินเทอร์เน็ต ก็เกิดปัญหามากกว่าเดิม


นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ก็ได้เคยกล่าววิจารณ์ระบบวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ว่า ยังมีปัญหาอยู่เดิมอยู่แล้ว อาทิเช่น กรณี อีออคชั่น ว่า


ประเทศไทยต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรืออีออคชั่น เพราะวิธีอีออคชั่นของไทยแตกต่างจากต่างประเทศในโลกมาก เราใช้ระบบอีออคชั่นกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้รองรับเฉพาะจัดซื้อครุภัณฑ์ ธนาคารโลกชี้ว่าอีออคชั่นทำให้เกิดอุปสรรคล่าช้างานกองกันเป็นคอขวด อีกทั้งยังไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงิน และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่สำคัญ แม้จะใช้วิธีนี้เมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล แนะนำให้ใช้วิธีอื่น ธนาคารโลก อาสาที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไทยด้านการปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานเช่นหลายประเทศในโลก


เราต้องยอมลงทุนในด้านงบประมาณ อย่างพอเพียงในการสร้างระบบติดตามและตรวจสอบ การใช้เงิน 800,000 ล้านบาทนี้ ต้องใช้งบเพียง 2% ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อยับยั้งการทุจริตงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนของรัฐ จากยอดเงิน 800,000 ล้านบาท ก็ย่อมคุ้มค่าแน่นอน เพราะไม่เพียงจะป้องกันเงินที่จะศูนย์เสียไปจากการทุจริต 5-10% ซึ่งจะเป็นเงินถึง 40,000-80,000 ล้านบาท ไปให้กับเหล่าคนโกงชาติแล้ว เรายังสามารถตัดวงจร นักการเมือง และข้าราชการ ที่ชั่วร้ายให้ออกไปจากระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ในที่สุด นำเงิน 2% นี้ไปจ้างอาสาสมัครจากนิสิต นักศึกษา ให้ติดตามดูแลโครงการ ให้ไปทำหน้าที่ ร่วมกันเป็นสายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน เดิมสิ่งที่ประเทศไทยขาดและเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับการคอร์รัปชันมาก ก็คือ เราขาด "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน" ฉะนั้น กุญแจแห่งความสำเร็จในงานปราบคอร์รัปชัน จึงอยู่ที่ "ผู้นำที่เอาจริง" นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความเชื่อถือว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน"


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องเป็นผู้นำเองในการเป็นกำลังหลักที่จะนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่แท้จริง ความมั่นคงของประเทศไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ หรือการปกครองประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการที่ประเทศต้องปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 17-08-52

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การท้าทายและก้าวที่สองของ CG

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ในรอบ 10 ปีนี้ แนวคิดบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) จะเป็นกระแสใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการองค์กรในประเทศไทย ทั้งในองค์กรที่เป็นส่วนราชการ ธุรกิจเอกชน และอาจจะรวมถึงองค์การมหาชน


การรณรงค์เรื่อง CG ในไทยอย่างจริงจัง เริ่มที่ภาคธุรกิจเอกชนโดยความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรัฐบาลในขณะนั้น (2544) สนับสนุนให้จัดเป็น "วาระแห่งชาติ" เพราะได้สรุปบทเรียนจากวิกฤติทางการเงินและวิกฤติของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการในภาคธุรกิจเอกชนขาด ซึ่งความรับผิดชอบที่ดีต่อผู้ถือหุ้น ต่อกิจการโดยรวมของบริษัทและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งต่อมา ในส่วนราชการได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของทุกส่วนงานของภาครัฐ ซึ่งรวมรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย


อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการดำเนินงานตาม CG ในภาคธุรกิจเอกชนหรือการจัดการบ้านเมืองที่ดีของภาครัฐ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ ในสุญญากาศ แต่ได้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ในช่วงหลังจากภาวะวิกฤติ ในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยได้เริ่มรู้จักแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นกระแสการจัดการใหม่ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักความรับผิดรับชอบ (Accountability) และหลักการเคารพและยึดมั่นในหลักกฎหมาย (Rule of Law) คำ แนวคิด และหลักการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากแนวคิดเดิมที่มุ่งติดยึดอยู่กับเป้าหมาย เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันแต่เพียงด้านเดียว วาทกรรมใหม่ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ CG และการบริหารจัดการใหม่ ที่ต้องก้าวตามให้ทันกติกาการแข่งขัน และการจัดระเบียบเศรษฐกิจของโลก
ต้องยอมรับว่า CG เป็นหนึ่งในกลุ่มคำที่เป็นคำนำเข้า และเป็นคำที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งเป็นการนำเข้าที่เข้ามาแทนที่แนวคิด และทางการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับปัญหาที่เป็นตัวถ่วงรั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ คอร์รัปชัน หรือการขัดกันในประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ฯลฯ


คำถาม ก็คือ ทำไม CG ที่มีการรณรงค์อย่างทั่วด้านในขณะนั้น ซึ่งเป็นกระแสความคิดที่หน่วยงานของรัฐและเอกชนกำหนดเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ในแผนการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างแพร่หลาย จึงยังไม่อาจต้านทานกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และเป็นภาระการตรวจสอบของ คตส. ที่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเป็นเหตุที่นำไปสู่การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเป็นประเด็นข้อขัดแย้งที่สำคัญที่สุดทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีคำถามอีกว่า ทำไม CG ที่มีการรณรงค์กันอย่างเข้มแข็งในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลขององค์กรแล้ว จึงยังไม่อาจจะรับมือกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้นในการบินไทย การบริหารงานของ กบข. ธอส. การคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้านและเอ็นจีโอที่มาบตาพุด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ กนอ.ในฐานะที่เป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม บริษัทและกิจการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ปตท. SCG โกลว์-สุเอซ ฯลฯ แม้กระทั่งข้อสังเกตของ สตง.ที่มีต่อการใช้จ่ายเงินของ สสส.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะการจัดการแบบองค์การมหาชน


ประเด็นปัญหาข้างต้นพอจะแยกได้เป็นสองส่วนคือ 1. ส่วนที่เป็นปัญหาการละเลยในหลักการบริหารจัดการที่ดี หรือละเลยหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ซึ่งเป็นประเด็นเดิมที่นำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเงิน 2540 อันเป็นส่วนที่มีปัญหากับผู้ถือหุ้น และ 2. ส่วนที่เป็นประเด็นใหม่ คือ การรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้าน และเอ็นจีโอที่มาบตาพุด


ดังนั้น ประเด็นที่กำลังท้าทายต่อ CG ของไทยในขณะนี้ ก็คือ จะต้องมีการรณรงค์ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในที่มุ่งรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และมุ่งที่จะรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม การมุ่งสู่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ จะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานในแขนงอื่น อาทิเช่น งานประชาสัมพันธ์ งานสร้างพันธมิตรและความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร งานชุมชนสัมพันธ์ หรืองาน CSR นอกจากนั้น ยังอาจจะต้องอาศัยการสร้างประเด็นและวาระในการรณรงค์ร่วมกันเพื่อสร้างวาระแห่งชาติ หรือเป็นการร่วมรณรงค์ในพื้นที่เดียวกัน
ผมคิดว่านี่เป็นขั้นที่สองในการก้าวเดินของ CG ในบ้านเรา ที่เดินต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจทั่วไป และเป็นการทำงานภายในองค์กรของตน เพื่อรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเป็นเบื้องต้น เป็นก้าวที่กำลังเดินไปสู่ความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานข้างเคียง ไปสู่การรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมที่กว้างใหญ่มากขึ้น ผมคิดว่ารูปแบบความร่วมมือและการทำงานในขั้นที่สองของ CG นี่แหละที่จะเป็นภาคปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ และทรงพลังของสังคมที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดและที่เมืองระยอง


ผมเชื่อมั่นในหลักการจัดการที่ดีที่องค์กรชั้นนำอย่าง ปตท. และ SCG ที่มีอยู่ว่าจะสามารถก้าวออกมาเป็นผู้นำ และรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเพียงพอ และผมเชื่อมั่นด้วยว่า CG เป็นหลักการจัดการที่จะนำพาทุกๆ ส่วนของสังคมให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกันได้เช่นเดียวกัน

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คอร์รัปชัน ประชาธิปไตย และกระบวนการยุติธรรม

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยมีอำนาจรัฐแยกออกเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล และฝ่ายตุลาการคือศาล เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐระหว่างกัน


นักการเมืองทั้งที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง จะเป็นผู้ที่มาใช้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการทางรัฐสภา และเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ นัยทั้งสองบทบาทนี้จะสัมพันธ์กับระดับการคอร์รัปชันของประเทศ หากรัฐสภาและรัฐบาลมีการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ระดับการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกัน หากมีการใช้อำนาจรัฐอย่างไร้ประสิทธิภาพ ระดับการทุจริตคอร์รัปชันก็จะสูงขึ้น


เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองทศวรรษแล้ว ที่การทุจริตคอร์รัปชันได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของชาติไปแล้ว อำนาจรัฐดูจะไร้ผลในการควบคุมแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่รัฐสามารถควบคุมได้


ดังผลการสำรวจของ Transparency Organization ในช่วงปี 2538-2551 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันอยู่ระหว่าง 2.75-3.80 เท่านั้น นั่นชี้ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก อำนาจรัฐไม่อาจจะควบคุมได้ แม้ว่าในช่วงปีดังกล่าว จะมีรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมืองสลับกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ระดับการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไม่ได้ลดลงเลย


ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย อาจจะสะท้อนได้ถึงความไร้ประสิทธิภาพในแง่ของการจัดการปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนักการเมือง พบว่ากระบวนการดำเนินการเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้บางคดีต้องหมดอายุความลง ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ในขณะที่ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในปัจจุบันที่มีระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมมาใช้ควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดส่งเสริมการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ธุรกิจการค้าขยายตัวและต้องอาศัยการดำเนินการทางการเมืองเพื่อกำกับควบคุมที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องผลักดัน เพื่อลดผลกระทบทางลบของนโยบาย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับนักการเมือง มีอาชีพทางธุรกิจมาก่อนเข้าสู่การเมือง และยังต้องการรักษาอาชีพหรือผลประโยชน์ที่ได้รับอยู่เดิมไว้ต่อไป


ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมีแนวโน้มว่า นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมา ก็คือ ทำให้รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับตัวของกระบวนการยุติธรรมของไทยกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ จึงเกิดปัญหาตามมา ก็คือ "กระบวนการยุติธรรมไทยวิ่งตามปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน"
ผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชัน จะขึ้นอยู่กับขนาดของการทุจริต แต่ขนาดของการทุจริตขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กระทำการทุจริต ซึ่งจะมีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น รูปแบบดั้งเดิม อาจจะมีตัวละครเพียงแค่ ข้าราชการ + นักธุรกิจเท่านั้น ครั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตัวละครที่กระทำการทุจริตก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น นักการเมือง + ข้าราชการ + นักธุรกิจ หรือหากเป็นสังคมสุดโต่งที่เชิดชูตัวผู้นำแบบลืมหูลืมตาหรือลัทธิผู้นำเป็นใหญ่ และมีประชาธิปไตยแบบไร้เหตุไร้ผล ตัวละครที่จะกระทำการทุจริตจะมีเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นรัฐบาล (ผู้นำทางการเมืองและพวกพ้องบริวาร) + ข้าราชการ + กลุ่มนักธุรกิจคนใกล้ชิด เป็นต้น


การทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้มีแต่ผลด้านลบเท่านั้น เมื่อมองในเชิงมหภาค (Macro View) ตัวอย่างเช่น มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกหลายสำนักได้อธิบายว่า หากรัฐสามารถควบคุมระดับการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ มันจะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าจะเป็นไปภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นก็ตาม ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้เรียกว่า การพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic Development) การมองเช่นนี้ของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ เขาจะไม่สนใจว่า ใครจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนา แต่เขาเหล่านั้นเชื่อว่ากลไกตลาด หรือ Demand และ Supply จะเป็นกลไกสามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับดังกล่าวได้


หากเรามองปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเสมือนกับปรอทวัดความเสี่ยงของสังคม นั่นอาจหมายความว่า สังคมไทยกำลังป่วยหนัก ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงยิ่ง ซึ่งผลการสำรวจของ PERC (Political and Economic Risk Consultancy Ltd.) เป็นตัวฟ้องได้อย่างดีว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยอยู่อันดับ 12 จากจำนวนทั้งหมด 13 ประเทศที่ถูกสำรวจ ได้แก่ ประเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า ไต้หวัน มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยไทยมีระดับความเสี่ยงในปี 2550 อยู่ที่ระดับ 8.03 และ 8.00 ในปี 2551 ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซียเสียอีก


คำถามคือ ทำไมรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งไม่อาจจะควบคุม และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ไม่ต้องตอบ แต่แก้ไขปัญหานี้เลย


เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20-07-52

ธรรมาภิบาลการเงินของคนด้อยโอกาส

โดย สุวิทย์ พูลศิลป์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข่าวผ่านสื่อสาธารณะเกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะ 2 ที่ได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อประกาศใช้ในปีนี้ โดยหยิบยกประเด็นน่าสนใจในส่วนของการจัดตั้งสถาบันการเงินสำหรับกลุ่มคนฐานรากที่ยังด้อยโอกาสและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในระบบปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชน หรือธนาคารประเภทต่างๆ ของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ออมสิน SME หรือแม้แต่ ธ.ก.ส. ที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องเกษตรกรในชนบทก็ตาม

ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตารายละเอียดของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับนี้ของ ธปท. แต่โดยประสบการณ์ที่ผ่านมา กลุ่มคนฐานรากผู้เป็นประชาชนด้อยโอกาส หากนำหลักคิดเส้นความยากจน (Poverty - Line) ของสหประชาชาติ มาแบ่งแยกตามรายได้ประชาชนของบ้านเรา ผมคิดว่า คนยากจนในประเทศไทยถ้านับกันละเอียดจริงๆ น่าจะอยู่ใกล้หลัก 10 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย เทียบได้ถึง 10-15% ของคนไทยทั้งประเทศ คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า คนยากจนเหล่านี้ได้รับการดูแล หรือได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐได้ทั่วถึงขนาดไหน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการให้บริการต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่า มีตัวอย่างดีๆ ที่แสดงถึงการให้โอกาสและความเป็นธรรมแก่คนยากจนของสถาบันการเงินในบางประเทศ เช่น บังกลาเทศ ถ้ายังจำกันได้ก็คือ


ธนาคารกรามีนแบงก์ (Grameen Bank) และ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส (ผู้ก่อตั้งธนาคาร และปัจจุบันยังดูแลรับผิดชอบธนาคารแห่งนี้อยู่) ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ.2006 (The Nobel Peace Prize for 2006) ซึ่งในคำประกาศให้รางวัล ณ กรุงออสโล (Oslo) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2549 สะท้อนชัดเจนว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากครัวเรือนระดับล่าง โดยอาศัยเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า การให้สินเชื่อแก่ผู้กู้รายย่อย (Micro - credit) มาต่อสู้กับความยากจน เป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน (human rights) ของประชาชนผู้ยากไร้ได้ สิ่งที่ กรามีนแบงก์ และยูนูส ลงมือกระทำ เป็นการให้โอกาสความเป็นธรรมทางการเงินแก่คนยากจน เจาะลึกลงไปถึงระดับคนขอทาน (Beggars) ในประเทศ แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยไม่กี่ร้อยบาทต่อราย แต่มีคุณค่าใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่และการลุกขึ้นมาต่อสู้ชีวิตของคนเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า บางหมู่บ้านที่ผมเคยไปสัมผัสในบังกลาเทศ คนขอทานบางรายก็กลับมามีอาชีพใหม่ที่สุจริตและอยู่ร่วมกันในชุมชนได้อย่างปกติ


สำหรับบ้านเรา ก่อนหน้านี้ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ระยะแรก เมื่อราวปี พ.ศ.2547 มีความพยายามพูดถึงการจัดระบบขององค์กรการเงินในระดับฐานรากมาบ้างแล้ว องค์กรการเงินเหล่านั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งมีและไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านกลุ่มสวัสดิการชุมชน สหกรณ์ประเภทต่างๆ ฯลฯ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป ฉะนั้น การนำประเด็นจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่เพื่อให้บริการแก่ผู้ไม่มีโอกาสได้รับการดูแลจากระบบสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิม มาบรรจุไว้ในแผนฯ ระยะที่ 2 นี้ จึงควรค่าแก่การยกย่องและท้าทายประเด็นธรรมาภิบาลเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถาบันการเงินใหม่ของคนจนผู้ด้อยโอกาสจะเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างในลักษณะใด หรือเป็นจริงเป็นจังได้ขนาดไหน ผมมีข้อคิดเห็นเบื้องต้นที่อยากเสนอเพิ่มเติมแก่สถาบันใหม่ในอนาคต คือ


ประการแรก การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนจนหรือคนระดับฐานล่างสุดของพีระมิด นับเป็นกุศโลบายอันประเสริฐ ควรจะให้คนเหล่านั้นได้เข้าถึงการให้บริการมากที่สุด อย่าไปกังวลว่าคนจนจะมีปัญหาตามมาในการชำระคืนหนี้หรือไม่ เราควรต้องเชื่อมั่นและระลึกไว้ว่า แม้นพวกเขาเป็นคนยากจนแต่ใช่ว่าจะเป็นคนโกงไปทั้งหมด ดังนั้น การให้โอกาสทางการเงินแก่คนจนได้มีช่องทางหารายได้จากการประกอบอาชีพโดยสุจริต จะช่วยให้คนจนตระหนักและหวงแหนชื่อเสียงของตนไม่ให้เกิดความเสียหาย และจะรักษาเอาไว้อย่างดีที่สุดเพื่อแลกกับโอกาสที่ได้รับ


ประการที่สอง ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินใหม่นี้ ไม่ว่าจะดำรงบทบาทในฐานะเป็นตัวการ (Principal) หรือเป็นตัวแทน (Agent) ก็ตาม ท่านจะต้องมีความเป็นธรรมในการให้บริการ ไม่เอาเปรียบคนจน เพราะคนจนมีเพียงความเชื่อมั่นและความเชื่อถือไว้วางใจให้แก่ท่าน คนจนไม่มีสินทรัพย์หรือสินจ้างอื่นใดมาตอบแทนแลกเปลี่ยนได้ สถาบันการเงินใหม่นี้ จึงต้องตระหนักในคุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติต่อคนจนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคด้วย


ประการที่สาม ในระยะยาว ภาครัฐไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอุดหนุนสถาบันการเงินแห่งใหม่นี้ การจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินงาน ควรได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสและผู้เห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ มาร่วมด้วยช่วยกัน ขับเคลื่อนพัฒนาองค์กรของพวกเขา เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป การพยายามใช้การอุดหนุนของรัฐมากเท่าไร จะยิ่งซ้ำเติมการทำลายความเข้มแข็งและศักดิ์ศรีของคนเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น


นั่นคือ ความเห็นที่มีเจตนาจุดประกายก่อนลงมือทำ และขอทิ้งประเด็นส่งท้ายให้คิดว่า คนยากจนที่เรียกกันนั้น เป็นความคิดจากมุมมองด้านใดและเป็นมุมมองของใคร ตัวคนจนจริงๆ เขาอาจไม่จน ก็ได้ ใช่หรือไม่ ?


แผยแพร่ครั้งแรกที่กรุงเทพธุรกิจ 06-07-52

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

น้ำลด ตอผุด คอร์รัปชันโผล่


โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


หลายปีที่ผ่านมา เรื่องที่ว่าด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดในประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและผู้คนก็คงจะชินชาต่อพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์นี้เสียแล้ว ทั้งนี้เราสามารถดูได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการของสำนักโพลล์ต่างๆ อาทิเช่น เอแบคโพลล์ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ หรือผลสำรวจของหน่วยงานราชการเองที่ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นและสภาพปัญหาของการคอร์รัปชันในเมืองไทยว่ามีแนวโน้มของความรุนแรงและมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร เช่น ผลของกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.2 คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็ยอมรับได้ ผลของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่า เห็นด้วยว่าการติดสินบนทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่แตกต่าง เห็นด้วยว่าการติดสินบนหาหลักฐานในการเอาผิดได้ยาก และการติดสินบนในการประกอบการธุรกิจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนผลของกลุ่มข้าราชการ พบว่า เห็นด้วยว่าเจ้าพนักงานที่รับสินบนมักไม่ถูกดำเนินการเอาผิด เห็นด้วยว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และเห็นด้วยว่าการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือนักการเมือง พบว่า ปัญหาทุจริต คอร์รัปชันที่พบส่วนใหญ่พบในกลุ่มนักการเมืองในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 86.5-86.2 ตามลำดับ
ซึ่งก็ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่การสำรวจล่าสุดขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จึงให้ลำดับของความโปร่งใสของประเทศไทยปี พ.ศ.2551 ไว้ในลำดับที่ 80 โดยมีคะแนนเพียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ทีนี้เรามาดูข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นความพยายามของคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ในสังคมที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง งานด้านนี้เราพบว่า ผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (6 ตุลาคม 2549 ถึง 6 ตุลาคม 2551) คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดทางวินัย ทางอาญา และความร่ำรวยผิดปกติไปแล้วจำนวน 131 เรื่อง (ปี พ.ศ.2550 จำนวน 68 เรื่อง พ.ศ. 2551 จำนวน 63 เรื่อง) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญๆ จำนวน 9 เรื่อง ดังเช่น กรณี นายวัฒนา อัศวเหม จากกรณีทุจริตคลองด่าน กรณีอดีตอธิบดีกรมป่าไม้และพวก จากกรณีเสือโคร่งเบงกอล กรณีอดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก จากกรณีการตรวจสอบภาษีหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลเพิ่มเติมในปีต่อมาอีกหลายกรณี เช่น กรณีปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทุจริตรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กรณีชี้มูลความผิดอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในการทำสัญญาเช่า จัดหา และดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตามรายละเอียดของข้อมูลเชิงตัวเลขกลับพบว่า ยังมีคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. อีกจำนวน 5,590 คดี และจะมีคดีที่สำคัญๆ ทยอยสำเร็จออกมาอีกเป็นระยะๆ ซึ่งแน่นอนผลของการพิจารณาของคณะกรรมการย่อมต้องส่งผลกระทบต่อภาคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง และตรงนี้เองหากเราจะวิเคราะห์กันอย่างเป็นธรรม ก็คงจะตอบได้ว่า นี่คือดอกผลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ที่เกิดภายหลังจากกลุ่มอำนาจเก่าหมดพลัง) โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันไว้อย่างสำคัญ ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ? ก็เพราะ
1.ยุทธวิธีที่สำคัญของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันอยู่ที่การตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อสามารถเพิ่มกลไกของระบบตรวจสอบได้ก็เป็นการช่วยลดปัญหาของการคอร์รัปชันลงได้ระดับหนึ่ง
2.ทุจริตในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น มีระบบความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับกระบวนการเชิงโครงสร้างเพื่อการคอร์รัปชันหลายด้านและเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม การใช้เครื่องมือและมาตรการทางกฎหมายทุกระดับจะต้องส่งผลต่อความกังวลที่จะทำการคอร์รัปชันในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นประจักษ์ได้ว่าสามารถทำได้ดีพอสมควร และ
3.ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือ ที่ทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าทุกพรรคการเมืองที่ชอบแสวงหาผลประโยชน์กังวลใจและกลัวที่จะถูกจับทุจริตได้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ
ก็ต้องเห็นใจและเป็นกำลังใจให้กับท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดนี้ (รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และบุคลากรของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ครับ เพราะการต่อสู้กับการทุจริตในปัจจุบันที่มีลักษณะของการทุจริตเชิงโครงสร้าง (Structural Corruption) จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีจิตใจ พละกำลัง และความกล้าหาญในระดับสูงในการต่อต้านผู้ทุจริต (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีอำนาจทางการเมืองสูงยิ่ง) ทั้งยังต้องทำงานภายใต้ความกดกันต่างๆ ที่รุมเร้าจากสังคมที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเหล่าผู้ทุจริตที่พยายามจะทำลายระบบการตรวจสอบ เช่น มีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการทั้งหมดหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กรณีตัดสินชี้มูลความผิดอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเครื่องมือ เป็นต้น
นับแต่นี้ไป เราคงจะได้เห็นวาทกรรมของการคอร์รัปชันในกรณีต่างๆ ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาเป็นระยะ และก็หวังต่อไปอีกด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยคงจะมีกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากระบบตรวจสอบและระบบกระบวนการยุติธรรมทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วแล้ว ผลประโยชน์ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เคยตกอยู่กับคนทุจริตก็จะกลับมาอยู่กับประชาชนชาวไทยอย่างเป็นธรรมได้ ประเทศของเราไม่มีเวลาในการประนีประนอมกับการคอร์รัปชันอีกต่อไปแล้วครับ

วิชามารรัฐกิจ-101 : ว่าด้วยการโกงรัฐให้แนบเนียน โดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไร?


โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อตระกูล ยมนาค ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ลองวาดภาพในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นหลักสูตรสอนวิชาโกงรัฐขึ้นสอนในระดับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ถ้าสังคมไทยยังพัฒนาการเมืองไปในทางที่เป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันที่มีนักการเมืองที่โกงกินเงินของประเทศ ยังคงได้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากส่วนแบ่ง 5% เพิ่มเป็น 10%,15%, 20%, 25% มาเป็น 30% ในปัจจุบันนักการเมืองจำนวนหนึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเงินที่ได้มาเพียง 1,000 ล้าน (10%) เมื่อ 6 ปีก่อน กลายมาเป็นกลุ่มนักการเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน นักการเมืองอีกพวกหนึ่งเรียนรู้เทคนิคลับนี้จากปรมาจารย์ที่เป็นระดับผู้นำพรรคหนึ่งในอดีต สามารถล็อกเงื่อนไขการประมูล ทำให้พรรคพวกกลุ่มตนเองได้งานจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐเกือบทั้งหมด


ความรู้ที่ต้องเรียกว่าเป็น วิชามารรัฐกิจนี้ มีผู้รู้อยู่ในนักการเมืองจำนวนไม่มาก จากหลักการโกงง่ายๆ ที่มีแต่หลักการที่ว่า ต้องอย่าให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยห้ามรับเป็นเช็ค ให้รับเป็นเงินสดเท่านั้น แม้จะต้องใช้รถแวนขนกันเต็มคันรถก็ตาม หากต้องเขียนให้เขียนบนฝ่ามือแล้วชูให้อ่าน เมื่อฝ่ายผู้ถูกรีดไถอ่านเสร็จให้รีบลบข้อความออกจากฝ่ามือ โดยถูมือทั้งสองข้างทันที


จากความรู้เทคนิคง่ายๆ กลายเป็นความรู้ที่ขยายตัวไปถึงการนำเงินเหล่านั้นไปใช้เพื่อเข้าสู่การยึดอำนาจปกครองประเทศตามวิถีทางการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้อย่างไร โดย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ได้นำมารวบรวมเป็นครั้งแรก ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "คู่มือทรราช - เทคนิคการคอร์รัปชันปล้นชาติ ยึดประเทศและทำลายคนดี" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2543 และกลายเป็นหนังสือขายดี ที่ทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองในอีก 5 ปี ได้แม่นยำยิ่งกว่าหมอดู และในปี 2550 ดร.วุฒิพงษ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกวิชามารนี้ทำลายไปตามเทคนิค "ทำลายคนดี" ที่อาจารย์ได้เขียนไว้เองในหนังสือเล่มนี้ ขอยกบัญญัติ 10 ประการของผู้ที่จะเป็นผู้นำทรราชมาสรุป ดังนี้


1.ยึดรัฐบาล เริ่มด้วยการยึดสภาหรือกวาดซื้อ ส.ส. 2.ยึดธุรกิจผูกขาด ธุรกิจคมนาคม ธุรกิจขนส่ง 3.ยึดองค์กรของรัฐ วางคนของตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และรัฐวิสาหกิจ 4.ทำลายคู่แข่งทางการเมือง วิธีการทำลายที่ดีที่สุดก็คือทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ 5.ทำลายคนดี ต้องทำลายเพราะคนดีเป็นอุปสรรคการโกงชาติ ปล้นประชาชน วิธีการที่ดีที่สุดคือซื้อสื่อ 6.ทำลายภาคประชาชน ให้ขัดขวางความเติบโตของภาคประชาชนด้วยการทำให้พวกเขาขาดแคลนใน "3 ชั่น" คือ Education, Organization และ Information 7.ขัดขวาง (ทำลาย) การปฏิรูปทางการเมือง 8.สร้างภาพลักษณ์ เน้นวิธีการ "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น" และซื้อนักวิชาการ 9.สร้างเครือข่ายทุจริตชน ควรประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นายทหารระดับสูง มาเฟีย สื่อมวลชนอาวุโส 10.สร้างการบริหารองค์กรทรราช ต้องบริหารแบบทรราชมืออาชีพ และพัฒนาฝีมือตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเขมือบโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สู่ระดับแสนล้านบาทให้ได้
ในเนื้อหาวิชามารรัฐกิจ-101 จะให้ความรู้ในขั้นปฏิบัติของกลุ่มผู้ทุจริตโกงชาติต่อจากตำราคู่มือทรราช เพื่อให้สามารถโกงเงินรัฐให้แนบเนียนโดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไรเป็นความรู้ที่สาธารณชนคนดี ที่รักชาติ รักประชาธิปไตยควรรู้ไว้ และใช้ในการติดตามพฤติกรรม


ลักษณะขบวนการโกงเงินของชาติจะมีพฤติกรรม 9 ประการ ดังนี้
1.จะไม่สร้างหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีเอกสารและลายเซ็น ไม่มีการโอนเงินทางธนาคาร ไม่เจรจาในสถานที่อาจถูกอัดเทป อัดคลิป หรือถูกถ่ายภาพ
2.ล็อกเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการ (TOR) กำหนดเงื่อนไขที่มีผู้ผลิตได้คนเดียวในโลก เช่น เครื่อง X-Rays กระเป๋า ต้องตรวจยาเสพติดได้ด้วย กำหนดเงินค้ำประกันสูงหลายพันล้าน กำหนดคุณสมบัติพิเศษที่มีราคาสูงแต่เวลาทำจริงจะลดหย่อนสเปคให้ถ้าเป็นบริษัทพวกตัวเอง กำหนดเวลาส่งมอบสั้นและมีค่าปรับสูงมากและกำหนดเสร็จภายใน 1 ปี แต่ทำจริงต่อรองให้เป็น 2 ปีครึ่งและไม่ปรับ
3.จำกัดผู้มีสิทธิเข้าประมูลให้เหลือเพียงบริษัทกลุ่มของตนจัดเป็นคู่แข่งหลอกไม่เกิน 2 ราย
4.แต่งตั้งข้าราชการที่มีอำนาจ ประธานกรรมการและกรรมการ รัฐมนตรี เข้าไปควบคุมทุกกรรมการ
5.สร้างการสนับสนุนจากสื่อ โดยซื้อนักเขียนบทวิจารณ์ และสร้างม็อบว่าจ้างมาสนับสนุนโครงการ
6.สร้างโครงการที่เป็นโครงการเทคโนโลยีสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้สร้างราคากลางได้สูง
7.จำกัดระยะเวลา การจัดเตรียมราคาเสนอให้จำกัด ทำให้คนทั่วไปจัดเตรียมข้อมูลเสนอประมูลไม่ทัน ส่วนพวกตัวเองได้เตรียมการมาล่วงหน้าเป็นปี
8.ใช้วิธี E-Auction ทำให้รู้ตัวผู้ที่จะเข้าประมูลแข่งได้หมด ฮั้วได้ 100%
9.ให้หลีกเลี่ยงการนำเข้าเสนออนุมัติในคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคอื่นร่วมพิจารณาด้วย ถ้าจำเป็นให้เจรจาแลกเปลี่ยนการหนุนโครงการจากพรรคตรงข้าม
ถ้าได้ทั้ง 9 ข้อแล้ว ยังมีผู้เข้ามาประมูลแย่งงานในราคาต่ำ ให้หาเหตุตัดผู้เสนอเหล่านั้นให้หมดสิทธิได้รับการเปิดซองราคา โดยใช้เหตุผลว่าไม่ผ่านทางด้านของเทคนิค


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 08/06/52

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปตท. แบบอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ

เมื่อพูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมักจะหยิบยกเอา ปตท. มาเป็นกรณีอ้างอิงเสมอ คำถาม ก็คือ การแปรรูป ปตท. ใครได้และใครเสียกันแน่

ปี พ.ศ. 2521 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยรวมองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤติอีกครั้งในปี 2533 ที่อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันอยู่ทั่วไป รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น และทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายรายติดตามมา การปิโตรเลียมฯ ต้องทำหน้าที่เป็นทั้ง "ผู้คานอำนาจ" กับบรรษัทค้าน้ำมันข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจด้วย

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างศักยภาพ ให้กับ ปตท. ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปที่มักเป็นธุรกิจผูกขาด ปตท. ในขณะนั้นตกอยู่ในการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตัวเองเป็นธุรกิจขนาดกลางมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ ปตท. ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมฯ ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้นเอง
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ช่วยกระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โดยการขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ผลของวิกฤติเกิดการลอยตัวค่าเงินบาทจนทำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่ม รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระได้เพิ่มขึ้นมาก ปตท. ต้องเลือกวิธีการที่จะ 1. ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนทั้งจากในและต่างประเทศหรือ 2. การขอเงินงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ 3. กู้เงินให้รัฐค้ำประกันซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่ภาครัฐมาก ขึ้นไปอีก

จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ปตท. กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดิม ยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้กับบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงิน อย่างสาหัส อาทิเช่น ไทยออยล์ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึงเกือบแสนล้านบาท ในขณะนั้น ทั้งไทยออยล์และโรงกลั่นน้ำมันระยองตกอยู่ในอาการโคม่าที่ถูกบีบให้ขาย กิจการให้แก่บรรษัทข้ามชาติ ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และก็สามารถแก้ไขจนสำเร็จเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย อาทิเช่น บริษัทไทยโอเลฟินส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ทั้งสิ้น ทางเลือกในขณะนั้นคือขายธุรกิจให้ต่างชาติไป แต่ ปตท. ได้ใช้เงินจากตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้แก่บริษัทเหล่านี้

การต่อสู้ทั้งด้านพลังงานและปิโตรเคมีกับบรรษัท ข้ามชาติระดับโลก ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ ปตท. จนกระทั่งสามารถขยายธุรกิจการวางท่อก๊าซธรรมชาติได้สำเร็จ หากไม่มีการต่อสู้ของ ปตท. อย่างทรหดอดทน ผมคิดว่าในวันนี้เราคงจะเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ในปัจจุบัน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐปีละกว่าแสนล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ยกระดับ ปตท. ขึ้นเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นคนไทย มีการประเมินกันว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรเพียงปีละ 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น และคงไม่มีเงินเพียงพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติทั้งหมด

การพัฒนาเศรษฐกิจกับการบริโภคพลังงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ผมทราบว่า ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้สูงถึง 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 จะต้องลงทุนสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องขอเงินจากรัฐบาลอีกต่อไป หากไม่มีการแปรรูป ในวันนี้ ปตท. คงต้องอาศัยแต่เงินของรัฐ เพื่อไปประกอบภารกิจข้างต้น

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน นอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ ก็คือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทมหาชน จึงถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มในปัจจุบันเป็นบริษัทที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาด หลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อ สังคม

ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คนส่วนหนึ่งอาจตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง การแปรเป็นบริษัทมหาชนเป็นผลให้ ปตท. ยิ่งถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นไปอีกจากภาคประชาชน รวมทั้งยังต้องดำเนินการตามกรอบ หลักเกณฑ์ และกติกาของตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอีกด้วย

ดังนั้น ภาคการเมืองจึงต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก หากคิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

การพัฒนารัฐวิสาหกิจกับตัวอย่าง..ปตท.

ผมมีความสนใจในเรื่องการพัฒนารัฐวิสาหกิจมาตลอด เพราะถ้าประเทศของเรามีการพัฒนาปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น สามารถสร้างกำไรเพิ่มเพียง 1% ประเทศของเราจะมีงบประมาณเพิ่มมาใช้ในการพัฒนาประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งหลายท่านคงคิดว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมกับผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ In the Eye of Power "ปฐมบทแห่งความโชติช่วงของพลังงานไทย" เขียนโดย ณัฐวิทย์ ณ นคร ซึ่งเขียนถึงอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาตนเองไปได้ไกลมาก นั่นคือ "ปตท." บริษัทด้านพลังงานของไทย ที่บ้างชมชอบ บ้างก็ชิงชัง หลากหลายแง่มุมในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อวิถีแห่ง ปตท. ซึ่งที่จริงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ยิ่งทำให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนสามารถสรุปเรื่องราวและอธิบายความได้ดีมาก ผมจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ไปพร้อมกันด้วย

จากอดีต...... การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก เราขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ต้องขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ในภาวะเงินหน้าตักมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่อยู่ในสภาพได้เปรียบพร้อมยึดธุรกิจนี้ของประเทศเรา จากวิกฤตครั้งนั้น การลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่มและภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปตท.ต้องเลือกวิธีการที่ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว หรือขอเงินงบประมาณสนับสนุน กู้เงินให้รัฐค้ำประกัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ภาครัฐซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างมาก

จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท อยู่ในอาการโคม่าถูกบีบให้ขายกิจการให้ต่างชาติโดยเจ้าหนี้ โรงกลั่นน้ำมันระยองอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และแก้ไขสถานการณ์ได้จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย เช่น บริษัทไทยโอเลฟันส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ ทางเลือกคือขายธุรกิจให้ต่างชาติ แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้

การต่อสู้อันยาวนาน.......... ต้องขับเคี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ทั้งพลังงานและปิโตรเคมี ปตท. ได้ยกระดับความเข้มแข็งของตนเองจนต่อสู้ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ขยายสู่ธุรกิจวางท่อก๊าซธรรมชาติที่ช่วงเริ่มต้นไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน เนื่องจากเวลาถึงจุดคุ้มทุนนานมาก ปตท. จึงเข้าดำเนินการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ทำให้ตกกระไดพลอยโจนเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ

หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้

มุ่งสู่อนาคต.................. การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินมหาศาลขนาดนั้น รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ

นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน ปตท.จึงโดนกร่นด่าไปโดยปริยาย

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม

ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น

โดย ทวีศักดิ์ รักยิ่ง ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

ต้นทุนทางการเมืองของประเทศไทย

ตรรกวิทยาของความไม่พอเพียงในระบบการเมืองของไทย ที่ผนวกกับกระแสทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เน้นการบริโภคที่เกินความจำเป็น มีผลทำให้วิถีชีวิตทางสังคมที่สวยงามแบบเดิมของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่มีแต่ความอาทร ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การยิ้มแย้มแจ่มใส การรู้จักให้อภัย รักและเคารพในการเป็นคนไทยด้วยกันของคนในชาติ กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสี แบ่งพวก กันอย่างชัดเจน ความรักและการเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกันหายไป ความเชื่อมั่นในสถาบันหลักที่ค้ำจุนประเทศ อาทิเช่น ศาล องคมนตรี และทหาร ถูกลดความน่าเชื่อถือลง กระทั่งความเชื่อในหลักการของเหตุผลของการกระทำถูกผิดของบุคคลก็ถูกบิดเบือน และถูกทำให้เป็นอื่นในฐานะของความหมายที่ผู้นำกลุ่มมวลชนนั้นๆ อยากให้เป็น


แน่นอนการขับเคลื่อนของระบบสังคมกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบครั้งนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเกิดขึ้นจากผลพวงของความพยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไปสู่ระบบการเมืองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า มีเสถียรภาพมากกว่าตามแบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่เกิดปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันที่นำไปสู่การเสื่อมศรัทธา และเสียความชอบธรรมของระบบ กล่าวคือ


1. ประเทศไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงของนักการเมือง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจทางการเมือง มีการทุ่มเงินเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่อำนาจต่อรองทางการเมือง
2. ระบบการเมืองไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการแย่งตำแหน่งอำนาจ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ อาทิเช่น กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ และการพาณิชย์
3. ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างระบบการป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงรูปแบบใหม่ ที่อาศัยระบบการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารงานของระบบราชการ และ
4. นักการเมืองไทยยังไม่มีการพัฒนาความคิดที่หลุดไปจากกรอบของผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ทั้งยังมีความพยายามในการสร้างวาทกรรมของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องทุกระดับ ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองระดับชาติ


ซึ่งความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเหล่าของการพัฒนาการทางการเมืองทุกครั้งในอดีตของไทย ก็นำมาซึ่งต้นทุนของสังคมที่ประชาชนต้องสูญเสียทั้งในรูปของค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน และค่าเสียโอกาสของประเทศในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งต้นทุนดังกล่าวที่ประชาชนต้องเสียไปโดยสังเขป อาจดูได้จาก
1. ตัวเงินงบประมาณ ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่รัฐต้องเสียไปจะมีวงเงินโดยเฉลี่ยที่มูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านบาท ถึง 2.4 พันล้านบาท ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง
2. ค่าเสียเวลา และต้นทุนในการจัดการทางการเมือง ซึ่งสถาบันทางวิชาการ ตลอดจนนักวิชาการได้มีการประมาณการมูลค่าเม็ดเงิน และวงเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยรวมว่ามีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท กระจายไปสู่ทุกๆ กลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง
3. การชะงักงันของโครงการของรัฐ ซึ่งไม่ปรากฏตัวเลขยืนยันที่แน่นอน แต่อาจประมาณได้จากมูลค่าของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ตามโครงการสร้างประเทศให้ทันสมัยของรัฐบาลชุดก่อน เป็นวงเงินถึง 61,943 ล้านบาท ไม่นับโครงการย่อยอื่นที่ต้องหยุดไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชุดรัฐบาล
4. ค่าเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า ซึ่งไม่อาจประมาณมูลค่าที่ชัดเจนเป็นตัวเงินได้แต่การที่ประเทศไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อประเทศคู่เจรจาทางการค้าที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐในโครงการสำคัญต่างๆ
5. การสูญเสียความน่าเชื่อถือของบุคคล องค์กรต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนความสูญเสียเชิงสัญญะทางสังคมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และ
6. ความสูญเสียด้านสังคม เอกลักษณ์ และความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้และน่าจะเป็นความสูญเสียที่มีต้นทุนสูงมากที่สุด ในต้นทุนทางการเมืองที่ต้องสูญเสียทั้งหมด เพราะเกี่ยวเนื่องกับสังคมของคนในชาติ


ดังนี้แล้ว ในวันนี้ ประเทศไทยคงไม่มีเวลาที่จะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไปได้แล้ว เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้นทุนทางการเมืองที่ประเทศใช้ไปมีมูลค่าสูงเกินกว่าผลได้ที่ประชาชนได้รับจากการบริหารงานของคนกลุ่มเล็กๆ ของประเทศ ที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จนเกิดปรากฏการณ์ของการแตกแยกของคนในประเทศเช่นวันนี้ หรือว่าจะถามหาถึงทางออก คำตอบคงไม่มีในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องการความสามัคคี การมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส มีฉันทามติ มีความรับผิดรับชอบ มีการสนองตอบต่อประชาชน เสมอภาคและอยู่ในหลักนิติธรรม และต้องมีคุณธรรมที่สูงพอ ซึ่งการเมืองไทยคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 99 ปี ครับ

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลกับ "รองเท้าบิน"

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั่วโลก เป็นข่าวเล็กๆเกี่ยวกับการไล่และขว้างปารองเท้าใส่คณะผู้บริหารของธนาคารฟอร์ทิส ที่ประเทศเบลเยียม พร้อมกับเรียกร้องให้กรรมการลาออก เพราะผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งไม่พอใจกับการตัดสินใจของกรรมการที่ให้ขายธนาคารนี้ไปให้แก่กิจการธนาคารบีเอ็นพี เพริบาส ของฝรั่งเศส

แม้ว่าในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากจะลงมติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 75 % ให้มีการขายกิจการดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะผู้บริหารก็ตาม แต่ผู้บริหารกลับต้องเจอกับ "รองเท้าบิน" จากผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย
คำถามก็คือขบวนการรองเท้าบินมาจากไหน? ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า กรณีนี้อาจเกี่ยวโยงกับอิทธิพลและผลสะเทือนระหว่างประเทศจากการขว้างรองเท้าของนักข่าวชาวอิรักต่อ นายจอร์จ บุช ในการแถลงข่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีที่ประเทศอิรักเมื่อปลายปีที่แล้ว

ผลสะเทือนทั่วโลกจากรองเท้าบินเพียงหนึ่งคู่ ได้เกิดการเลียนแบบต่อมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีการขว้างรองเท้าใส่ประธานาธิบดี หู จิน เทา ของจีนในการแถลงข่าวเยือนประเทศอังกฤษ

พัฒนาการรูปแบบการปาสิ่งของเข้าใส่บุคคลสาธารณะที่แสดงออกถึงการต่อต้านและขับไล่นี้ แต่ก่อนเราอาจจะคุ้นเคยกับการปามะเขือเทศ หรือไข่ในต่างประเทศ หรือในกรณีของประเทศไทยก็เคยมีการปาอุจจาระใส่ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น และการปาไข่ใส่ คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีในการไปลงสนามช่วยหาเสียงให้กับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดลำพูนและลำปางในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อคราวที่แล้ว โดยที่เรื่องเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจหรือแสดงความเป็นปรปักษ์ทางการเมือง แต่ภาคปฏิบัติการของการปารองเท้าในครั้งนี้ (แม้ว่าจะเกิดขึ้นที่เบลเยียมก็ตาม) เป็นการแสดงออกด้วยปฏิกิริยาที่ค่อนข้างก้าวร้าว และไม่ใคร่เป็นที่นิยมปฏิบัติกันก่อนหน้านี้ เกิดในภาคส่วนกิจการเอกชน

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ไหมที่การแสดงออกในการต่อต้านแบบนี้ได้รุกล้ำจากพื้นที่ทางการเมืองไปยังพื้นที่ที่เป็นการบริหารในภาคธุรกิจเอกชน โดยทั้งสองพื้นที่ข้างต้นนั้นเป็นการกระทำที่มาจากภาคประชาสังคม หรืออาจจะพูดอีกแบบหนึ่งว่า ภาคประชาสังคมได้ใช้เครื่องมือในทางการเมือง ที่เป็นเครื่องมือในทางตรง ไปใช้ปฏิบัติการในภาคส่วนอื่นที่เป็นชีวิตประจำวัน

ประเด็นต่อมาก็คือภาคธุรกิจในบ้านเรา เท่าที่เคยมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจของผู้ถือหุ้นรายย่อย ต่อการประชุมใหญ่ของ อสมท.ที่ไม่เห็นด้วยต่อการแต่งตั้งบอร์ดเพิ่มเติมเมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงแค่การ ?วอล์คเอาท์? ออกจากที่ประชุมและเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นการตอบโต้ ซึ่งก็เกิดผลในทางปฏิบัติที่จะหยุดยั้ง หรือชะลอการตัดสินใจของที่ประชุมไว้ได้

แต่หากพิจารณากันต่อไปก็จะพบว่า ท่ามกลางการก่อการที่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองของทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับเครือข่ายฝ่ายเสื้อแดง-แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ที่ต่างฝ่ายต่างก็จัดสร้างเครือข่ายกลุ่มพลังทางการเมืองทั้งในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กับระบบประชาธิปไตยทางตรง โดยการเคลื่อนไหวแบบการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ก็อาจจะเป็นการสะสมที่ยาวนานเพียงพอต่อการสร้างผลสะเทือนและขยายผลข้ามเขตแดนของพื้นที่ทางการเมือง ไปยังพื้นที่ของการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้นภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยควรต้องระมัดระวังตั้งแต่นี้เป็นต้นไปในการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชน เพราะพัฒนาการการเลียนแบบรองเท้าบินแบบที่เกิดขึ้นกับธนาคารฟอร์ทิสของเบลเยียมที่กล่าวถึงข้างต้นอาจจะมาถึงประเทศไทยได้เหมือนกัน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีผลสะเทือนทางสังคมค่อนข้างสูง เพราะทำให้กรรมการบริษัทได้รับความอับอายขายหน้าโดยที่ไม่สามารถอธิบายกับสังคมได้

แท้ที่จริงแล้วการเคลื่อนตัวของภาคประชาสังคมที่ปะทะกับกิจการเอกชน ในบ้านเรานั้น เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยต่อเนื่องมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการเอกชนขนาดใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยที่มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวในการชุมนุมในทางการเมือง ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการที่ก่อการขึ้นมาจากภาคประชาสังคม เช่นกัน

อนึ่ง ปฏิบัติการที่ต่อต้านต่อการดำเนินการของเอกชนนั้น หรือสินค้า หรือยี่ห้อสินค้าต่างๆในโลกทุนนิยมนั้น ก็เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วเช่นกัน แต่การแสดงออกหรือภาคปฏิบัติการไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ แต่จะเป็นการแสดงออกในเชิงการสร้างสัญลักษณ์ ในการบอยคอต หรืออย่างมากก็เป็นการแสดงออกล้อเลียนที่เรียกในภาษาโฆษณาว่า cultural jamming ที่เรามักจะเห็นเป็นการล้อเลียนโฆษณาของยี่ห้อดังๆ โดยเฉพาะของต่างประเทศ

ผมยังไม่แน่ใจว่าโลกได้ก้าวมาถึง ณ จุดที่เครื่องมือที่แสดงออกถึงความเป็นปรปักษ์หรือความไม่พอใจทางการเมืองจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะระบายความโกธรแค้นในโลกของธุรกิจแล้วหรือไม่ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมรองเท้าบินต่อที่ประชุมบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การทำแผนธรรมาภิบาลและทำแผนการควบคุมคอร์รัปชันด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา และที่สามารถตรวจสอบได้จริง อาจช่วยควบคุมพฤติกรรมการแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของผู้ถือหุ้นบางส่วนได้

โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

การพัฒนารัฐวิสาหกิจกับการแปรรูป (จบ)

บรรยง พงษ์พานิช ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ทำไมการแปรรูปจึงเกิดยาก
ใครเป็นผู้เสียหาย ทำไม NGO ซึ่งเป็นภาพที่ดูว่าดูแลผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จึงต่อต้าน

1. เพราะผู้เสียผลประโยชน์จะต่อต้าน นั่นคือ คนที่เคยได้ประโยชน์อันไม่ควรจากการมีรัฐวิสาหกิจ
(1) นักการเมือง โดยภาพรวมเขาคุมอยู่ นักการเมืองจะไม่ชอบการแปรรูปโดยสมบูรณ์ ที่ผ่านมาไทยก็ไม่เคยมีการแปรรูปโดยสมบูรณ์ แต่มันเป็นเพียงการเพิ่มบทบาทของตลาดเข้าไป แต่ก็ยังดีกว่ายังมีประโยชน์
(2) ผู้บริหาร เพราะการบริหารรัฐวิสาหกิจง่าย มี monopoly guide อยู่แล้ว
(3) พนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาทิเช่น คนขับรถ มีเงินเดือนสูงกว่าในตลาดมาก มีระบบอุปถัมภ์
(4) คู่ค้า ค้าขายกับรัฐวิสาหกิจง่ายกว่าค้าขายกับเอกชนมาก
(5) ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มีความรู้สึกว่า ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจจะได้รับการอุดหนุน หากขาดทุนเขาจะไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นเอกชนเข้ามาจะมาเอากำไร ค่าบริการจะแพง

2. ความจริงจังของนโยบาย
การแปรรูปในอดีตในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เขียนว่าการแปรรูปเป็นนโยบายสำคัญอยู่ในบทสรุป
ผู้บริหารแต่ข้างในไม่มีรายละเอียด และฉบับที่ 6 ก็เขียนเหมือนกันอีกแต่ไม่มีรายละเอียด เพราะไม่มีใครอยากให้แปรรูปดังที่ได้กล่าวข้างต้น
การแปรรูปที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาต้องเป็นว่าเป็นอุบัติเหตุ อาทิเช่น
- การบินไทยยอมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการซื้อเครื่องบิน กระทรวงการคลังจะค้ำประกันให้ก็ได้แต่การบินไทยต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์
- ปตท. ยอมเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการเงินจริงๆ บริษัทลูกมีหนี้ท่วมหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จะขอเงินจากกระทรวงการคลังก็ไม่ให้ และให้ไม่ได้ด้วย เพราะมี IMF คุมอยู่ด้วย
- การแปรรูปโดยให้สัมปทานโทรศัพท์ มันไม่เกิดจากว่าต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่มันเกิดจากการที่นักการเมืองอยากได้ค่าคอมมิชชั่น
- แต่ถ้ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ กระทรวงการคลังจะบังคับเพราะเห็นประโยชน์

กระบวนการแปรรูปแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทย ต้องพูดใน 2 ประเด็น คือ

1. แบบไหนดี คือ ต้องเป็นการแปรรูปตามมาตรฐานสากล แปรให้สุดให้เอกชนถือ 100% ในที่สุด
หรือแม้กระทั่งการขายกิจการให้ต่างชาติ เพียงแต่ต้องมีกรอบกติกา มี regulator ที่ดีพอ อาทิเช่น โรงแรมเอราวัณพอไม่มี monopoly เพราะมีการแข่งขัน ไม่มีโรงแรมไหนในประเทศไทยเลยที่ขาดทุน แต่โรงแรมเอราวัณขาดทุนอยู่โรงแรมเดียว มีหนี้ มีสิน พอประมูลขายได้เงินเอาไปคืน ทุกวันนี้ ก็มีแต่กำไรและสุดท้ายแล้วโรงแรมเอราวัณก็มีกำไรทั้งที่ไม่ได้ monopoly แต่บางธุรกิจอย่างองค์การโทรศัพท์ ทำไมถึงกำไร มันมาจากเงินกินหัวคิวทั้งนั้น การสื่อสารก็กินหัวคิวฟรีๆ ไม่ได้มาจากผลประกอบการ

2. แบบไหนยอมรับกัน ก็ต้องมาพูดถึงทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งก็ต้องไล่กันไปตั้งแต่ระดับปัญญาชน แต่ข้อเท็จจริงก่อนเลยคือตัวรัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำอย่างดี และไม่บิดเบือน แต่ยากมากเพราะเจ้ากระทรวงต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือ

การแปรรูปที่ถูก รัฐวิสาหกิจเป็นคนที่ถูกแปรรูป เขาถูกกระทำ แล้วคุณให้คนที่ถูกแปรรูปเสนอแผน มันจะไม่ถูกบิดเบือนหรือ เพราะประโยชน์ของการแปรรูปไม่ได้ตกอยู่ที่รัฐวิสาหกิจ แต่จะตกอยู่ที่ผู้บริโภค (tax payer) อยู่ที่คนทั้งมวล อาทิเช่น ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตศึกษาการแปรรูปไฟฟ้า ยังไงก็จะไม่ออกมาเป็น power pool system การแปรรูปการไฟฟ้าที่ดี คือ ต้องแยกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกเป็น 5 องค์กร นั่นคือ ถือว่าเป็นการแปรรูปว่าดีที่สุด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเพราะรัฐก็ยังมีความต้องการทรัพยากรไปใช้อย่างอื่น โดยเฉพาะตอนนี้รัฐต้องการทรัพยากรมาก เพราะว่าต้องตั้งงบประมาณขาดทุนจำนวนมาก ในระยะเวลา 2-3 ปี ข้างหน้า ดังนั้น ถ้าบรรเทาภาระเรื่องของการลงทุนใน infrastructure ที่เอกชนลงทุนเองได้ รัฐก็จะมีทรัพยากรเหลือไปใช้อย่างอื่น
ต้องมี Regulator ที่มีบทบาทจริงๆ ต้องแยกเป็นสาขาไป หลักใหญ่ ก็คือ คนที่ทำหน้าที่ 2 อย่าง

1. สร้างกลไกตลาดให้เกิดการแข่งขัน เป็นคนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่ากลไกตลาดได้ถูกทำให้เกิดมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
2. คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจนเกินไป อาทิเช่น การท่าอากาศยาน บอกว่า ไม่ monopoly แต่ในทางธรรมชาติไม่มีใครมาสร้างได้ เป็น natural monopoly จึงต้องมี regulator เพื่อไม่ให้การท่าอากาศยานขึ้นราคาได้ตามใจชอบ หรือ ปตท. มีส่วนที่เขาแข่งกับตลาดอยู่แล้ว อาทิเช่น ระบบการจัดจำหน่ายน้ำมันก็ว่ากันไป แต่ส่วนที่เป็น natural monopoly อาทิเช่น ท่อแก๊ส ต้องมี regulator เพื่อดูแลเรื่องราคา
Regulator ต้องเป็นองค์กรที่มีรูปแบบที่จะทำหน้าที่กล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี และไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรอิสระ
ด้านตัวบทกฎหมายไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ เพราะ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 เป็นการดูเรื่องการแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น นโยบายรัฐบาลสำคัญกว่า และหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการแปรรูปต้องเป็นหน่วยงานระดับชาติ ต้องเป็นนายกฯ ไม่ใช่แค่ระดับกรมอย่าง สคร. ช่วยไม่ได้ เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นหัวแก้วหัวแหวนของเจ้ากระทรวง เวลามีการแบ่งโควตากระทรวงจะมีกระทรวงเกรด เอ บี ซี ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐวิสาหกิจในสังกัด
รัฐวิสาหกิจควรแปรรูปทั้งหมดหรือไม่
ต้องดูที่วัตถุประสงค์ เพราะ

- บางรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์บางอย่างของประเทศชาติ อาทิเช่น เพื่อความมั่นคงก็จะควรคงเอาไว้
- บางรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นมาเพื่อหารายได้ อาทิเช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ ไม่ต้องแปรรูป
- พวกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการใช้พื้นฐานของประชาชน ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค Logistic ทั้งหลาย ควรแปรรูป
- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต้องการเงินช่วยเหลือก็ต้องแปรรูปแบบพิเศษไม่ใช่แปรรูปซะทั้งหมด