วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จับตาการรถไฟ ทิศทางถูก หลักการผิด

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ในที่สุด กระทรวงคมนาคมก็สามารถคลอดแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นแผนใหม่ล่าสุดออกมาได้สำเร็จ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แผนนี้ถูกมองว่า เป็นการถอยกันคนละก้าวระหว่างสหภาพการรถไฟกับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สหภาพอาจยอมให้ฝ่ายบริหารตั้งบริษัทลูกที่เรียกว่าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นรถไฟที่เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองได้ แต่ในส่วนของ 1. การบริหารจัดการเดินรถ 2. การบริหารด้านทรัพย์สิน และ 3. ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุงจะตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สำหรับแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. การปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัย อาทิเช่น การปรับปรุงความแข็งแรงของราง การจัดหาหัวรถจักรใหม่ ฯลฯ 2. การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น เส้นทางบัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 3. การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) ในระบบรางมาตรฐาน แผนงานใหม่ของการรถไฟมีความน่าสนใจ คือ

1. จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบูรณะเส้นทางเดิม 2,272 กิโลเมตร และเพิ่มเติมหัวรถจักร เป็นวงเงิน 46,000 ล้านบาท

2. ขยายโครงข่ายสายใหม่ คือ สิงคโปร์-คุนหมิง เชื่อมเส้นทางฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ เชื่อมรถไฟสายปอยเปต-ศรีโสภณ และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเชื่อมกับประเทศจีน จำนวน 2,651 กิโลเมตร วงเงิน 392,348 ล้านบาท

3. เพิ่มทางคู่เร่งด่วน 5 ปีแรก (2553-2557) 767 กิโลเมตร วงเงิน 66,110 ล้านบาท ส่วนที่เหลือปี 2558-2567 ระยะทาง 2,272 กิโลเมตร วงเงิน 258,600 ล้านบาท

4. เร่งศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หนองคาย จันทบุรี และปาดังเบซาร์ 2,675 กิโลเมตร วงเงิน 708,855 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ

5. จะนำที่ดินของรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 234,977 ไร่ ออกมาให้เอกชนเช่า

ผมยังไม่แน่ใจว่าแผนยกเครื่องการรถไฟเที่ยวนี้ จะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะ

ประการแรก ถึงแม้แผนนี้จะได้รับการยอมรับจาก ครม. เศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับในเชิงบวกจากสหภาพแรงงานแต่อย่างใด นี่ยังเป็นความเสี่ยงของการรถไฟในอนาคต

ประการที่สอง การปรับปรุงโครงสร้างและการขยายโครงข่ายสายใหม่จำนวนมหาศาลในไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใต้งบประมาณมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจจะมีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าการรถไฟจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสได้ตามที่สังคมคาดหวังไว้ ผมมีความวิตกว่าองค์กรบริหารงานที่มีวัฒนธรรมเป็นราชการ และมีกฎระเบียบที่ขาดความคล่องตัวจะบริหารธุรกิจขนาดนี้ได้อย่างไร ความเป็นราชการจะไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของโครงการข้างต้นหรือ

ประการที่สาม การบริหารที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ภายใต้หน่วยงานธุรกิจที่มีความเป็นราชการ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นขนมเค้กก้อนใหม่ของนักการเมือง กลุ่มอิทธิพล นักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟ หากไม่มีแผนงาน และกระบวนการจัดการที่ดีเพียงพอ

ผมคิดว่าขณะนี้ การเคลื่อนไหวยกเครื่องการรถไฟอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหา คือ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารของการรถไฟจะทำงานภายใต้ความคาดหวังนี้ให้ได้ดีได้อย่างไร ผมเกรงว่าถ้าหากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารไม่ระมัดระวังการบริหารจัดการในแต่ละขั้นตอนให้ดีเพียงพอ ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน และกลายเป็นความล้มเหลวของการรถไฟ และระบบการขนส่งของประเทศไทยในท้ายที่สุด พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมอดแปลกประหลาดใจไม่ได้ ที่แผนยกเครื่องการรถไฟซึ่งจะใช้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 สัปดาห์ ภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในการรถไฟขึ้น หากเข้าใจไม่ผิด ผมเข้าใจว่าแผนฉบับนี้คงจะปรับปรุงขึ้นมาจากแผนของการรถไฟเดิมที่ได้ดำเนินการเอาไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น แผนการที่ดูดีขึ้นนี้ อาจขัดกับหลักการบริหารจัดการที่ดี ที่อย่างน้อยที่สุดที่การรถไฟควรมี คือ หลักที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าแผนฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือได้มีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิเช่น สหภาพรถไฟ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เช่าที่การรถไฟ ฯลฯ มาให้ความเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากผู้บริหารการรถไฟไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการรถไฟ แผนของการรถไฟก็จะเป็นแผนที่ขาดความรอบด้าน มีแต่มิติทางด้านเทคนิค แต่ขาดมุมมองทางด้านสังคมและเสียงร้องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การบริหารโครงการต่างๆ ของรถไฟ โดยใช้หน่วยธุรกิจจะสามารถตอบคำถามในเรื่องหลักการที่ว่าด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการรถไฟให้ดีขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร ผมคิดว่าผู้บริหารการรถไฟต้องตอบให้ได้ว่าทางเลือกในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการรถไฟมีกี่ทางเลือก และเพราะเหตุใดท่านจึงเลือกทางนี้ และทางเลือกนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนใช่หรือไม่ ท่านต้องตอบคำถามนี้เพื่อทำให้ หลักที่ว่าด้วยความโปร่งใส และ หลักที่ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ ต่อผลที่จะติดตามมาจากการตัดสินใจของท่าน จะได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ส่วนหลักการสุดท้ายสำหรับการรถไฟ คือ หลักการควบคุมการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สหภาพรถไฟเกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร ฝ่ายบริหารควรอธิบายให้ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการทุจริตภายในองค์กรในอนาคตได้อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 23-11-52

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การเมืองเรื่องคอร์รัปชัน กับการล่มสลาย

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การปะทะกันเรื่องผลประโยชน์ในลักษณะของพฤติกรรม ที่มักอ้างเอาเหตุผลของผลประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ซึ่งเป็นของคนส่วนรวมในสังคม เริ่มมีภาวะที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาฝักฝ่ายคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ และรูปแบบของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ของบุคคลกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เริ่มมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็น "โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ" (tragedy of the commons) ซึ่งเกี่ยวข้องกับตรรกะของผลประโยชน์ (the logic of interest) จำนวนมากของผู้บริโภค และการจัดสรรทรัพยากรในสังคม

และครั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลั่นว่าให้ลูกพรรคเพื่อไทย ค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในฝ่ายรัฐบาลร่วมของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายในสภา อาทิเช่น ในเรื่องของการทุจริต นมโรงเรียน ทุจริตในโครงการรถเมล์ ทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข และทุจริตทุกรูปแบบที่มีข้อมูล นั่นแสดงให้เห็นว่า ประเด็นทางการเมืองที่ใช้อ้างและเป็นเครื่องมือที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดในการล้มรัฐบาลนอกจากการโจมตีด้านการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว ก็คือ "เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล" (ซึ่งเป็นสูตรที่มักถูกหยิบยกมาใช้กล่าวอ้างได้ทุกยุค ทุกสมัย อย่างมีน้ำหนัก) ทั้งนี้ เพราะในทุกรัฐบาลจะมีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดแฝงตัวอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการคอร์รัปชันนั้นจะมีความชัดแจ้ง มีขนาดของวงเงินหรือการแพร่ขยายของการทุจริตมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีคอร์รัปชันแล้ว สิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้น ชี้ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องของการคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อย่างทั่วไป แม้ว่าจะมีกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุมพฤติกรรมที่น่ารังเกียจนี้แล้ว แม้ว่าสังคมจะตระหนักรับรู้ถึงความชั่วร้าย หรือผลกระทบของการคอร์รัปชันต่อประเทศแล้ว แม้ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานจำนวนมากที่คอยดูแลสอดส่องเรื่องนี้แล้ว ตลอดจนถึงขั้นที่ให้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ก็ดูเหมือนว่าเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ มิได้ลดความสำคัญลงเลยแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการนำเอาเรื่องของการคอร์รัปชัน มาเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ของพรรคพวก และที่สุด ก็นำเอามาทำลายล้างกันในทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตน โดยจงใจที่จะละเลย และมองข้ามส่วนของผลประโยชน์สาธารณะ (ทั้งในรูปแบบที่เห็นเป็นตัวเงิน และในรูปแบบของต้นทุนทางสังคม) ของคนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไปกับการต่อสู้ คัดง้าง และแย่งชิงผลประโยชน์กันเองของบุคคลจำนวนหนึ่ง โดยเขาเหล่านั้นจะคงเหลือไว้ซึ่งความล่มสลายของสังคมให้คนรุ่นต่อไปดูต่างหน้า

ที่จริงแล้ว การทำความเข้าใจในเรื่อง "พฤติกรรมที่มีเหตุผล" (rational behavior) ซึ่งเกิดจากการปะทะกันด้านผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ นั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ อธิบายได้จากพฤติกรรมของคนบางคน ซึ่งอาจคิดหาเหตุผลได้อย่างถูกต้องว่าตนเองจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระทำที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น แม้อาจจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายในทางจริยธรรมก็ตามที ผู้กระทำผิดทราบดีว่าพวกตนสามารถรอดตัวไปได้ แม้ว่าจะทำพฤติกรรมไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะผู้ถูกกระทำผิดมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ฝ่ายสูญเสียมักกระจายกันไปในหมู่คนจำนวนมาก ทั้งตัวผู้สูญเสียแต่ละคนในสังคมซึ่งมองโดยทั่วไปก็เสียประโยชน์ไปคนละเล็กน้อย มีขนาดไม่แน่นอน และดูว่าไกลตัวเกินไปสำหรับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์กลับมา (อาจต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ยาวนาน เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นทรัพยากรของคนหลายๆ คน) ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการคอร์รัปชันยังคงอยู่ และการต่อต้านคอร์รัปชันจึงมักล้มเหลว และแน่นอนในอนาคตภัยร้ายนี้ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสังคมในที่สุด

มากไปกว่านี้ จากอดีตจนปัจจุบันของสังคมใดๆ อาจกล่าวได้ว่า ยังมีเหตุผลอีก 3 ประการ ที่อาจทำให้สังคมเกิดความล่มสลาย (Social Collapse) ได้ นั่นคือ

หนึ่ง เกิดจากจุดเริ่มต้นของปัญหาบางอย่างที่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็น เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นช้าๆ ภายใต้การผันผวนของสังคม

สอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาอยู่ห่างไกลพื้นที่ที่มีปัญหา หรือปฏิเสธข้อเท็จจริง (speculative) ในการตัดสินใจปัญหาซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตัดสินใจโดยอิงกับ "จิตวิทยาฝูงชน" (crowd psychology) และ

สาม ปัญหาอาจยากเกินกว่าขีดความสามารถ หรือศักยภาพในการแก้ปัญหาของคนในสังคมในปัจจุบัน

ผมไม่อยากเห็นสังคมไทย ต้องล่มสลายและเหลือแต่ความผุพังไว้ให้กับลูก หลานไทยในอนาคต ได้โปรดกรุณาหยุดทำร้ายชาติ หยุดการกระทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง และกลับมาเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของสังคมไทยในอนาคตดีกว่าครับ



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 09-11-52

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระทู้ถาม "การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน" (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

แหล่งข่าว ช่อง สทท. /FM 87.5 MHz

มีรายละเอียด ดังนี้

ประธาน : เชิญท่านอานิก อัมระนันทน์ ผู้ตั้งกระทู้ถาม เชิญ

อานิก : ค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งค่ะ เอ่อ ที่หาตัวท่านรัฐมนตรีมาฟังได้ค่ะ ดิฉัน อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ เอ่อ ในวันนี้จะถามกระทู้นะคะ เรื่อง การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เอ่อ ขออนุญาตท่านประธานนะคะเป็นอารัมภบท อยากจะขอแสดงแผนภูมิ เมื่อกี้เช็คกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าอันนี้ไม่ต้องเคลียร์ข้างบนนะคะ เอ่อ โอ้โห ไม่ทราบจะโคลสอัพ ได้มั้ยคะกล้อง แผนภูมิอันนี้จะแสดงถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับ..

ประธาน : ท่านได้ขออนุญาตหรือยัง

อานิก : เอ่อ ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ค่ะ

ประธาน : ครับ เปล่า ผมยังไม่เห็นเรื่องเลย เอ้า ผมอนุญาตครับ ไม่เป็นไร เชิญฮะ เร็วหน่อยก็แล้วกัน...อ่านต่อ