วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

น้ำลด ตอผุด คอร์รัปชันโผล่


โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


หลายปีที่ผ่านมา เรื่องที่ว่าด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดในประเทศไทย ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและผู้คนก็คงจะชินชาต่อพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์นี้เสียแล้ว ทั้งนี้เราสามารถดูได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการของสำนักโพลล์ต่างๆ อาทิเช่น เอแบคโพลล์ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ หรือผลสำรวจของหน่วยงานราชการเองที่ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นและสภาพปัญหาของการคอร์รัปชันในเมืองไทยว่ามีแนวโน้มของความรุนแรงและมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร เช่น ผลของกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.2 คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็ยอมรับได้ ผลของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่า เห็นด้วยว่าการติดสินบนทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่แตกต่าง เห็นด้วยว่าการติดสินบนหาหลักฐานในการเอาผิดได้ยาก และการติดสินบนในการประกอบการธุรกิจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนผลของกลุ่มข้าราชการ พบว่า เห็นด้วยว่าเจ้าพนักงานที่รับสินบนมักไม่ถูกดำเนินการเอาผิด เห็นด้วยว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และเห็นด้วยว่าการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือนักการเมือง พบว่า ปัญหาทุจริต คอร์รัปชันที่พบส่วนใหญ่พบในกลุ่มนักการเมืองในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 86.5-86.2 ตามลำดับ
ซึ่งก็ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่การสำรวจล่าสุดขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จึงให้ลำดับของความโปร่งใสของประเทศไทยปี พ.ศ.2551 ไว้ในลำดับที่ 80 โดยมีคะแนนเพียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ทีนี้เรามาดูข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นความพยายามของคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ในสังคมที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง งานด้านนี้เราพบว่า ผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (6 ตุลาคม 2549 ถึง 6 ตุลาคม 2551) คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดทางวินัย ทางอาญา และความร่ำรวยผิดปกติไปแล้วจำนวน 131 เรื่อง (ปี พ.ศ.2550 จำนวน 68 เรื่อง พ.ศ. 2551 จำนวน 63 เรื่อง) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญๆ จำนวน 9 เรื่อง ดังเช่น กรณี นายวัฒนา อัศวเหม จากกรณีทุจริตคลองด่าน กรณีอดีตอธิบดีกรมป่าไม้และพวก จากกรณีเสือโคร่งเบงกอล กรณีอดีตอธิบดีกรมสรรพากรกับพวก จากกรณีการตรวจสอบภาษีหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลเพิ่มเติมในปีต่อมาอีกหลายกรณี เช่น กรณีปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทุจริตรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กรณีชี้มูลความผิดอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในการทำสัญญาเช่า จัดหา และดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตามรายละเอียดของข้อมูลเชิงตัวเลขกลับพบว่า ยังมีคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. อีกจำนวน 5,590 คดี และจะมีคดีที่สำคัญๆ ทยอยสำเร็จออกมาอีกเป็นระยะๆ ซึ่งแน่นอนผลของการพิจารณาของคณะกรรมการย่อมต้องส่งผลกระทบต่อภาคการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง และตรงนี้เองหากเราจะวิเคราะห์กันอย่างเป็นธรรม ก็คงจะตอบได้ว่า นี่คือดอกผลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ที่เกิดภายหลังจากกลุ่มอำนาจเก่าหมดพลัง) โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันไว้อย่างสำคัญ ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ? ก็เพราะ
1.ยุทธวิธีที่สำคัญของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันอยู่ที่การตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อสามารถเพิ่มกลไกของระบบตรวจสอบได้ก็เป็นการช่วยลดปัญหาของการคอร์รัปชันลงได้ระดับหนึ่ง
2.ทุจริตในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น มีระบบความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับกระบวนการเชิงโครงสร้างเพื่อการคอร์รัปชันหลายด้านและเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม การใช้เครื่องมือและมาตรการทางกฎหมายทุกระดับจะต้องส่งผลต่อความกังวลที่จะทำการคอร์รัปชันในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นประจักษ์ได้ว่าสามารถทำได้ดีพอสมควร และ
3.ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือ ที่ทำให้นักการเมืองรุ่นเก่าทุกพรรคการเมืองที่ชอบแสวงหาผลประโยชน์กังวลใจและกลัวที่จะถูกจับทุจริตได้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ
ก็ต้องเห็นใจและเป็นกำลังใจให้กับท่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดนี้ (รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และบุคลากรของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ครับ เพราะการต่อสู้กับการทุจริตในปัจจุบันที่มีลักษณะของการทุจริตเชิงโครงสร้าง (Structural Corruption) จำเป็นต้องใช้บุคคลที่มีจิตใจ พละกำลัง และความกล้าหาญในระดับสูงในการต่อต้านผู้ทุจริต (ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและยังมีอำนาจทางการเมืองสูงยิ่ง) ทั้งยังต้องทำงานภายใต้ความกดกันต่างๆ ที่รุมเร้าจากสังคมที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเหล่าผู้ทุจริตที่พยายามจะทำลายระบบการตรวจสอบ เช่น มีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการทั้งหมดหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กรณีตัดสินชี้มูลความผิดอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเครื่องมือ เป็นต้น
นับแต่นี้ไป เราคงจะได้เห็นวาทกรรมของการคอร์รัปชันในกรณีต่างๆ ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ออกมาเป็นระยะ และก็หวังต่อไปอีกด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยคงจะมีกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากระบบตรวจสอบและระบบกระบวนการยุติธรรมทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีและรวดเร็วแล้ว ผลประโยชน์ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เคยตกอยู่กับคนทุจริตก็จะกลับมาอยู่กับประชาชนชาวไทยอย่างเป็นธรรมได้ ประเทศของเราไม่มีเวลาในการประนีประนอมกับการคอร์รัปชันอีกต่อไปแล้วครับ

วิชามารรัฐกิจ-101 : ว่าด้วยการโกงรัฐให้แนบเนียน โดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไร?


โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อตระกูล ยมนาค ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ลองวาดภาพในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นหลักสูตรสอนวิชาโกงรัฐขึ้นสอนในระดับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ถ้าสังคมไทยยังพัฒนาการเมืองไปในทางที่เป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันที่มีนักการเมืองที่โกงกินเงินของประเทศ ยังคงได้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากส่วนแบ่ง 5% เพิ่มเป็น 10%,15%, 20%, 25% มาเป็น 30% ในปัจจุบันนักการเมืองจำนวนหนึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเงินที่ได้มาเพียง 1,000 ล้าน (10%) เมื่อ 6 ปีก่อน กลายมาเป็นกลุ่มนักการเมืองที่สำคัญในปัจจุบัน นักการเมืองอีกพวกหนึ่งเรียนรู้เทคนิคลับนี้จากปรมาจารย์ที่เป็นระดับผู้นำพรรคหนึ่งในอดีต สามารถล็อกเงื่อนไขการประมูล ทำให้พรรคพวกกลุ่มตนเองได้งานจัดซื้อจัดจ้างงานภาครัฐเกือบทั้งหมด


ความรู้ที่ต้องเรียกว่าเป็น วิชามารรัฐกิจนี้ มีผู้รู้อยู่ในนักการเมืองจำนวนไม่มาก จากหลักการโกงง่ายๆ ที่มีแต่หลักการที่ว่า ต้องอย่าให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยห้ามรับเป็นเช็ค ให้รับเป็นเงินสดเท่านั้น แม้จะต้องใช้รถแวนขนกันเต็มคันรถก็ตาม หากต้องเขียนให้เขียนบนฝ่ามือแล้วชูให้อ่าน เมื่อฝ่ายผู้ถูกรีดไถอ่านเสร็จให้รีบลบข้อความออกจากฝ่ามือ โดยถูมือทั้งสองข้างทันที


จากความรู้เทคนิคง่ายๆ กลายเป็นความรู้ที่ขยายตัวไปถึงการนำเงินเหล่านั้นไปใช้เพื่อเข้าสู่การยึดอำนาจปกครองประเทศตามวิถีทางการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้อย่างไร โดย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ได้นำมารวบรวมเป็นครั้งแรก ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "คู่มือทรราช - เทคนิคการคอร์รัปชันปล้นชาติ ยึดประเทศและทำลายคนดี" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2543 และกลายเป็นหนังสือขายดี ที่ทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองในอีก 5 ปี ได้แม่นยำยิ่งกว่าหมอดู และในปี 2550 ดร.วุฒิพงษ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกวิชามารนี้ทำลายไปตามเทคนิค "ทำลายคนดี" ที่อาจารย์ได้เขียนไว้เองในหนังสือเล่มนี้ ขอยกบัญญัติ 10 ประการของผู้ที่จะเป็นผู้นำทรราชมาสรุป ดังนี้


1.ยึดรัฐบาล เริ่มด้วยการยึดสภาหรือกวาดซื้อ ส.ส. 2.ยึดธุรกิจผูกขาด ธุรกิจคมนาคม ธุรกิจขนส่ง 3.ยึดองค์กรของรัฐ วางคนของตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และรัฐวิสาหกิจ 4.ทำลายคู่แข่งทางการเมือง วิธีการทำลายที่ดีที่สุดก็คือทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ 5.ทำลายคนดี ต้องทำลายเพราะคนดีเป็นอุปสรรคการโกงชาติ ปล้นประชาชน วิธีการที่ดีที่สุดคือซื้อสื่อ 6.ทำลายภาคประชาชน ให้ขัดขวางความเติบโตของภาคประชาชนด้วยการทำให้พวกเขาขาดแคลนใน "3 ชั่น" คือ Education, Organization และ Information 7.ขัดขวาง (ทำลาย) การปฏิรูปทางการเมือง 8.สร้างภาพลักษณ์ เน้นวิธีการ "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น" และซื้อนักวิชาการ 9.สร้างเครือข่ายทุจริตชน ควรประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นายทหารระดับสูง มาเฟีย สื่อมวลชนอาวุโส 10.สร้างการบริหารองค์กรทรราช ต้องบริหารแบบทรราชมืออาชีพ และพัฒนาฝีมือตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถเขมือบโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สู่ระดับแสนล้านบาทให้ได้
ในเนื้อหาวิชามารรัฐกิจ-101 จะให้ความรู้ในขั้นปฏิบัติของกลุ่มผู้ทุจริตโกงชาติต่อจากตำราคู่มือทรราช เพื่อให้สามารถโกงเงินรัฐให้แนบเนียนโดยไม่ต้องประมูลได้อย่างไรเป็นความรู้ที่สาธารณชนคนดี ที่รักชาติ รักประชาธิปไตยควรรู้ไว้ และใช้ในการติดตามพฤติกรรม


ลักษณะขบวนการโกงเงินของชาติจะมีพฤติกรรม 9 ประการ ดังนี้
1.จะไม่สร้างหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีเอกสารและลายเซ็น ไม่มีการโอนเงินทางธนาคาร ไม่เจรจาในสถานที่อาจถูกอัดเทป อัดคลิป หรือถูกถ่ายภาพ
2.ล็อกเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่เริ่มเขียนโครงการ (TOR) กำหนดเงื่อนไขที่มีผู้ผลิตได้คนเดียวในโลก เช่น เครื่อง X-Rays กระเป๋า ต้องตรวจยาเสพติดได้ด้วย กำหนดเงินค้ำประกันสูงหลายพันล้าน กำหนดคุณสมบัติพิเศษที่มีราคาสูงแต่เวลาทำจริงจะลดหย่อนสเปคให้ถ้าเป็นบริษัทพวกตัวเอง กำหนดเวลาส่งมอบสั้นและมีค่าปรับสูงมากและกำหนดเสร็จภายใน 1 ปี แต่ทำจริงต่อรองให้เป็น 2 ปีครึ่งและไม่ปรับ
3.จำกัดผู้มีสิทธิเข้าประมูลให้เหลือเพียงบริษัทกลุ่มของตนจัดเป็นคู่แข่งหลอกไม่เกิน 2 ราย
4.แต่งตั้งข้าราชการที่มีอำนาจ ประธานกรรมการและกรรมการ รัฐมนตรี เข้าไปควบคุมทุกกรรมการ
5.สร้างการสนับสนุนจากสื่อ โดยซื้อนักเขียนบทวิจารณ์ และสร้างม็อบว่าจ้างมาสนับสนุนโครงการ
6.สร้างโครงการที่เป็นโครงการเทคโนโลยีสูง เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้สร้างราคากลางได้สูง
7.จำกัดระยะเวลา การจัดเตรียมราคาเสนอให้จำกัด ทำให้คนทั่วไปจัดเตรียมข้อมูลเสนอประมูลไม่ทัน ส่วนพวกตัวเองได้เตรียมการมาล่วงหน้าเป็นปี
8.ใช้วิธี E-Auction ทำให้รู้ตัวผู้ที่จะเข้าประมูลแข่งได้หมด ฮั้วได้ 100%
9.ให้หลีกเลี่ยงการนำเข้าเสนออนุมัติในคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคอื่นร่วมพิจารณาด้วย ถ้าจำเป็นให้เจรจาแลกเปลี่ยนการหนุนโครงการจากพรรคตรงข้าม
ถ้าได้ทั้ง 9 ข้อแล้ว ยังมีผู้เข้ามาประมูลแย่งงานในราคาต่ำ ให้หาเหตุตัดผู้เสนอเหล่านั้นให้หมดสิทธิได้รับการเปิดซองราคา โดยใช้เหตุผลว่าไม่ผ่านทางด้านของเทคนิค


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 08/06/52