วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปตท. แบบอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ

เมื่อพูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมักจะหยิบยกเอา ปตท. มาเป็นกรณีอ้างอิงเสมอ คำถาม ก็คือ การแปรรูป ปตท. ใครได้และใครเสียกันแน่

ปี พ.ศ. 2521 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยรวมองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤติอีกครั้งในปี 2533 ที่อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันจนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันอยู่ทั่วไป รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น และทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายรายติดตามมา การปิโตรเลียมฯ ต้องทำหน้าที่เป็นทั้ง "ผู้คานอำนาจ" กับบรรษัทค้าน้ำมันข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจด้วย

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างศักยภาพ ให้กับ ปตท. ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปที่มักเป็นธุรกิจผูกขาด ปตท. ในขณะนั้นตกอยู่ในการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตัวเองเป็นธุรกิจขนาดกลางมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ ปตท. ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมฯ ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้นเอง
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ช่วยกระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โดยการขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ผลของวิกฤติเกิดการลอยตัวค่าเงินบาทจนทำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่ม รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระได้เพิ่มขึ้นมาก ปตท. ต้องเลือกวิธีการที่จะ 1. ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนทั้งจากในและต่างประเทศหรือ 2. การขอเงินงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ 3. กู้เงินให้รัฐค้ำประกันซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่ภาครัฐมาก ขึ้นไปอีก

จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ปตท. กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดิม ยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้กับบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงิน อย่างสาหัส อาทิเช่น ไทยออยล์ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึงเกือบแสนล้านบาท ในขณะนั้น ทั้งไทยออยล์และโรงกลั่นน้ำมันระยองตกอยู่ในอาการโคม่าที่ถูกบีบให้ขาย กิจการให้แก่บรรษัทข้ามชาติ ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และก็สามารถแก้ไขจนสำเร็จเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย อาทิเช่น บริษัทไทยโอเลฟินส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ทั้งสิ้น ทางเลือกในขณะนั้นคือขายธุรกิจให้ต่างชาติไป แต่ ปตท. ได้ใช้เงินจากตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้แก่บริษัทเหล่านี้

การต่อสู้ทั้งด้านพลังงานและปิโตรเคมีกับบรรษัท ข้ามชาติระดับโลก ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ ปตท. จนกระทั่งสามารถขยายธุรกิจการวางท่อก๊าซธรรมชาติได้สำเร็จ หากไม่มีการต่อสู้ของ ปตท. อย่างทรหดอดทน ผมคิดว่าในวันนี้เราคงจะเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ในปัจจุบัน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐปีละกว่าแสนล้านบาท ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ยกระดับ ปตท. ขึ้นเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นคนไทย มีการประเมินกันว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรเพียงปีละ 30,000-40,000 ล้านบาทเท่านั้น และคงไม่มีเงินเพียงพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติทั้งหมด

การพัฒนาเศรษฐกิจกับการบริโภคพลังงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ผมทราบว่า ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้สูงถึง 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 จะต้องลงทุนสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องขอเงินจากรัฐบาลอีกต่อไป หากไม่มีการแปรรูป ในวันนี้ ปตท. คงต้องอาศัยแต่เงินของรัฐ เพื่อไปประกอบภารกิจข้างต้น

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน นอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจ ก็คือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล การที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทมหาชน จึงถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีต เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มในปัจจุบันเป็นบริษัทที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาด หลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อ สังคม

ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คนส่วนหนึ่งอาจตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง การแปรเป็นบริษัทมหาชนเป็นผลให้ ปตท. ยิ่งถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นไปอีกจากภาคประชาชน รวมทั้งยังต้องดำเนินการตามกรอบ หลักเกณฑ์ และกติกาของตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอีกด้วย

ดังนั้น ภาคการเมืองจึงต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก หากคิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

การพัฒนารัฐวิสาหกิจกับตัวอย่าง..ปตท.

ผมมีความสนใจในเรื่องการพัฒนารัฐวิสาหกิจมาตลอด เพราะถ้าประเทศของเรามีการพัฒนาปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น สามารถสร้างกำไรเพิ่มเพียง 1% ประเทศของเราจะมีงบประมาณเพิ่มมาใช้ในการพัฒนาประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งหลายท่านคงคิดว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมกับผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ In the Eye of Power "ปฐมบทแห่งความโชติช่วงของพลังงานไทย" เขียนโดย ณัฐวิทย์ ณ นคร ซึ่งเขียนถึงอดีตรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาตนเองไปได้ไกลมาก นั่นคือ "ปตท." บริษัทด้านพลังงานของไทย ที่บ้างชมชอบ บ้างก็ชิงชัง หลากหลายแง่มุมในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อวิถีแห่ง ปตท. ซึ่งที่จริงน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ยิ่งทำให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนสามารถสรุปเรื่องราวและอธิบายความได้ดีมาก ผมจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ไปพร้อมกันด้วย

จากอดีต...... การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2521 เพื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยเป็นการรวมกันขององค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก และเมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งในปี 2533 อิรักบุกยึดคูเวต เกิดการกักตุนน้ำมันทำให้ขาดแคลน รัฐบาลตอนนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก เราขาดแคลนพลังงานและแหล่งในการจัดการ ทำให้ต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เกิดผู้ค้าน้ำมันรายใหม่หลายราย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้คานอำนาจ" พร้อมกับมีความจำเป็นต้องพลิกบทบาทของตนเองไปกับการแข่งขันในเชิงธุรกิจไปด้วย ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เสริมสร้างศักยภาพให้กับ ปตท. มาตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มักจะเป็นการผูกขาด ปตท.ต้องอยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ยึดครองประเทศอยู่ ทั้งที่ตนเองมีขนาดเล็กจิ๋วมีทรัพย์สินเพียง 400 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับบทบาทเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แล้วกระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ถูกจุดชนวนขึ้น ณ ตรงนั้น

การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้เป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ต้องขวนขวายหาเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ในภาวะเงินหน้าตักมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สำคัญต่ออนาคตความมั่นคงทางพลังงานของชาติที่มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติที่อยู่ในสภาพได้เปรียบพร้อมยึดธุรกิจนี้ของประเทศเรา จากวิกฤตครั้งนั้น การลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินต่อทุนของบริษัทพุ่งเป็น 5 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะกู้เงินเพิ่มและภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปตท.ต้องเลือกวิธีการที่ยืนบนลำแข้งของตนเองด้วยการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจากทั้งในและต่างประเทศ กู้สถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาว หรือขอเงินงบประมาณสนับสนุน กู้เงินให้รัฐค้ำประกัน จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้ภาครัฐซึ่งมีปัญหาอยู่อย่างมาก

จากการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปตท. กลายมาเป็นบริษัทมหาชนที่คล่องตัว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม โดยยังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือรายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธวิธียอมเสียส่วนน้อย (กระจายหุ้นบางส่วน) เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของ ปตท. เหลือเพียง 2 ต่อ 1 และมีเงินสดที่สามารถเพิ่มทุนให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างสาหัส เช่น ไทยออยล์ มีทุนจดทะเบียนเพียง 20 ล้านบาท แต่มีหนี้สินเพิ่มเป็นเฉียดแสนล้านบาท อยู่ในอาการโคม่าถูกบีบให้ขายกิจการให้ต่างชาติโดยเจ้าหนี้ โรงกลั่นน้ำมันระยองอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ ปตท. ต้องเข้าไปเพิ่มทุนรักษาสมบัติโรงกลั่นไว้เป็นของคนไทย และแก้ไขสถานการณ์ได้จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจปิโตรเคมีของไทย เช่น บริษัทไทยโอเลฟันส์ บริษัทอะโรเมติกส์ ก็เช่นกัน ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ ทางเลือกคือขายธุรกิจให้ต่างชาติ แต่ ปตท. ที่มีกำลังเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้

การต่อสู้อันยาวนาน.......... ต้องขับเคี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ทั้งพลังงานและปิโตรเคมี ปตท. ได้ยกระดับความเข้มแข็งของตนเองจนต่อสู้ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ขยายสู่ธุรกิจวางท่อก๊าซธรรมชาติที่ช่วงเริ่มต้นไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน เนื่องจากเวลาถึงจุดคุ้มทุนนานมาก ปตท. จึงเข้าดำเนินการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของชาติ ทำให้ตกกระไดพลอยโจนเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ

หากไม่ต่อสู้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน เราคงจะพบเจอแต่สถานีน้ำมันต่างชาติเรียงรายไปทุกถนน ปตท. กลายเป็นแหล่งใหญ่นำเงินรายได้ส่งรัฐ ตกปีละกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานต่างให้ความเห็นว่า การแปรรูปเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ได้ยกระดับ ปตท. ขึ้นมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 68 เป็นสายเลือดไทย และมีการประเมินกันว่าถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปตท. วันนี้คงมีกำไรปีละ 30,000 - 40,000 ล้านบาท และคงไม่มีเงินพอจะไปซื้อบริษัทลูกต่างๆ ซึ่งคงตกไปเป็นของต่างชาติกันหมด ถ้าพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ ต่างพยายามให้การสนับสนุนและผลักดันบริษัทน้ำมันแห่งชาติของตนเองให้เข้าไปมีบทบาทในตลาดโลกด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้บริษัทมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานให้สามารถขับเคี่ยวในตลาดพลังงานโลกได้

มุ่งสู่อนาคต.................. การบริโภคพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเดินไปควบคู่กัน หากอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เกิดสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย คงจะมีการถามกันว่าที่ผ่านมา ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ทำให้ ปตท. ได้วางงบประมาณลงทุนในปี 2551-2555 ไว้ 900,000 ล้านบาท และในปี 2555-2563 ต้องลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท ทั้งการสำรวจขุดเจาะหาแหล่งพลังงานสำรอง พลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. ต้องออกไประดมทุน (กู้เงิน) จากต่างประเทศด้วยเครดิตของตนเอง โดยไม่ต้องหวังขอเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินมหาศาลขนาดนั้น รัฐจะได้เอาไปช่วยเหลือและเยียวยาเศรษฐกิจทางด้านอื่นๆ จะไม่ดีกว่าหรือ

นอกจากนั้นทุกครั้งที่นำเข้าก๊าซแอลพีจี ปตท. จำเป็นต้องสำรองเงินล่วงหน้าส่วนต่างแทนรัฐบาลไปก่อน ในขณะที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการได้เช่นกัน แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัว ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไขให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ปตท.ก็ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อให้ และเมื่อทาง กพช. มีมติเห็นชอบปรับราคาแอลพีจีเป็น 2 ราคา เพื่อชดเชยภาระการนำเข้าให้ ปตท. กลับมีการปลุกสาธารณชนให้งอแง เพราะคุ้นเคยกับราคาแอลพีจีที่ถูกบิดเบือนมาอย่างยาวนาน ปตท.จึงโดนกร่นด่าไปโดยปริยาย

การดำรงธุรกิจอยู่ได้ในโลกเสรีนิยมยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนอกจากมีทุนเพียงพอในการขยายและพัฒนาธุรกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเติบโตคือ การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล และการที่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นบริษัทมหาชน จะถูกตรวจสอบมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ ปตท. ทั้งกลุ่มเป็นบริษัทที่มีดีกรีที่นักลงทุนให้การยอมรับกันมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จในระดับประเทศและนานาชาติอย่างมากมาย ด้วยการที่เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อสังคม

ปตท. เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ผ่านการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า การขายหุ้น ปตท. ถือเป็นการเปิดประตูให้ทุนการเมืองเข้ามาฮุบกิจการของภาครัฐ แต่หากมองย้อนมาอีกทาง การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนได้เป็นผลให้ ปตท. ถูกตรวจสอบมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีกจากทางภาคประชาชน และต้องดำเนินการตามกรอบหลักเกณฑ์ กติกาของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ ปตท. เองก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดิม จึงทำให้ภาคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากหากคิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน ดังนั้นหากเราตั้งใจกันจริงที่จะร่วมมือกันพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่การพัฒนาก่อให้เกิดคุณูปการกับประเทศชาติมากกว่าการสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยไม่จำเป็น

โดย ทวีศักดิ์ รักยิ่ง ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

ต้นทุนทางการเมืองของประเทศไทย

ตรรกวิทยาของความไม่พอเพียงในระบบการเมืองของไทย ที่ผนวกกับกระแสทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เน้นการบริโภคที่เกินความจำเป็น มีผลทำให้วิถีชีวิตทางสังคมที่สวยงามแบบเดิมของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่มีแต่ความอาทร ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การยิ้มแย้มแจ่มใส การรู้จักให้อภัย รักและเคารพในการเป็นคนไทยด้วยกันของคนในชาติ กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสี แบ่งพวก กันอย่างชัดเจน ความรักและการเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกันหายไป ความเชื่อมั่นในสถาบันหลักที่ค้ำจุนประเทศ อาทิเช่น ศาล องคมนตรี และทหาร ถูกลดความน่าเชื่อถือลง กระทั่งความเชื่อในหลักการของเหตุผลของการกระทำถูกผิดของบุคคลก็ถูกบิดเบือน และถูกทำให้เป็นอื่นในฐานะของความหมายที่ผู้นำกลุ่มมวลชนนั้นๆ อยากให้เป็น


แน่นอนการขับเคลื่อนของระบบสังคมกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบครั้งนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเกิดขึ้นจากผลพวงของความพยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไปสู่ระบบการเมืองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า มีเสถียรภาพมากกว่าตามแบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่เกิดปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันที่นำไปสู่การเสื่อมศรัทธา และเสียความชอบธรรมของระบบ กล่าวคือ


1. ประเทศไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องการใช้เงินซื้อเสียงของนักการเมือง เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจทางการเมือง มีการทุ่มเงินเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่อำนาจต่อรองทางการเมือง
2. ระบบการเมืองไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการแย่งตำแหน่งอำนาจ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ อาทิเช่น กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ และการพาณิชย์
3. ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างระบบการป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงรูปแบบใหม่ ที่อาศัยระบบการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารงานของระบบราชการ และ
4. นักการเมืองไทยยังไม่มีการพัฒนาความคิดที่หลุดไปจากกรอบของผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ทั้งยังมีความพยายามในการสร้างวาทกรรมของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องทุกระดับ ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองระดับชาติ


ซึ่งความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเหล่าของการพัฒนาการทางการเมืองทุกครั้งในอดีตของไทย ก็นำมาซึ่งต้นทุนของสังคมที่ประชาชนต้องสูญเสียทั้งในรูปของค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน และค่าเสียโอกาสของประเทศในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งต้นทุนดังกล่าวที่ประชาชนต้องเสียไปโดยสังเขป อาจดูได้จาก
1. ตัวเงินงบประมาณ ที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่รัฐต้องเสียไปจะมีวงเงินโดยเฉลี่ยที่มูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านบาท ถึง 2.4 พันล้านบาท ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง
2. ค่าเสียเวลา และต้นทุนในการจัดการทางการเมือง ซึ่งสถาบันทางวิชาการ ตลอดจนนักวิชาการได้มีการประมาณการมูลค่าเม็ดเงิน และวงเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยรวมว่ามีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท กระจายไปสู่ทุกๆ กลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง
3. การชะงักงันของโครงการของรัฐ ซึ่งไม่ปรากฏตัวเลขยืนยันที่แน่นอน แต่อาจประมาณได้จากมูลค่าของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ตามโครงการสร้างประเทศให้ทันสมัยของรัฐบาลชุดก่อน เป็นวงเงินถึง 61,943 ล้านบาท ไม่นับโครงการย่อยอื่นที่ต้องหยุดไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชุดรัฐบาล
4. ค่าเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า ซึ่งไม่อาจประมาณมูลค่าที่ชัดเจนเป็นตัวเงินได้แต่การที่ประเทศไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อประเทศคู่เจรจาทางการค้าที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐในโครงการสำคัญต่างๆ
5. การสูญเสียความน่าเชื่อถือของบุคคล องค์กรต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนความสูญเสียเชิงสัญญะทางสังคมที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และ
6. ความสูญเสียด้านสังคม เอกลักษณ์ และความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้และน่าจะเป็นความสูญเสียที่มีต้นทุนสูงมากที่สุด ในต้นทุนทางการเมืองที่ต้องสูญเสียทั้งหมด เพราะเกี่ยวเนื่องกับสังคมของคนในชาติ


ดังนี้แล้ว ในวันนี้ ประเทศไทยคงไม่มีเวลาที่จะสูญเสียผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอีกต่อไปได้แล้ว เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้นทุนทางการเมืองที่ประเทศใช้ไปมีมูลค่าสูงเกินกว่าผลได้ที่ประชาชนได้รับจากการบริหารงานของคนกลุ่มเล็กๆ ของประเทศ ที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จนเกิดปรากฏการณ์ของการแตกแยกของคนในประเทศเช่นวันนี้ หรือว่าจะถามหาถึงทางออก คำตอบคงไม่มีในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องการความสามัคคี การมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส มีฉันทามติ มีความรับผิดรับชอบ มีการสนองตอบต่อประชาชน เสมอภาคและอยู่ในหลักนิติธรรม และต้องมีคุณธรรมที่สูงพอ ซึ่งการเมืองไทยคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 99 ปี ครับ

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลกับ "รองเท้าบิน"

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั่วโลก เป็นข่าวเล็กๆเกี่ยวกับการไล่และขว้างปารองเท้าใส่คณะผู้บริหารของธนาคารฟอร์ทิส ที่ประเทศเบลเยียม พร้อมกับเรียกร้องให้กรรมการลาออก เพราะผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งไม่พอใจกับการตัดสินใจของกรรมการที่ให้ขายธนาคารนี้ไปให้แก่กิจการธนาคารบีเอ็นพี เพริบาส ของฝรั่งเศส

แม้ว่าในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากจะลงมติด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 75 % ให้มีการขายกิจการดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะผู้บริหารก็ตาม แต่ผู้บริหารกลับต้องเจอกับ "รองเท้าบิน" จากผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย
คำถามก็คือขบวนการรองเท้าบินมาจากไหน? ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า กรณีนี้อาจเกี่ยวโยงกับอิทธิพลและผลสะเทือนระหว่างประเทศจากการขว้างรองเท้าของนักข่าวชาวอิรักต่อ นายจอร์จ บุช ในการแถลงข่าวอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีที่ประเทศอิรักเมื่อปลายปีที่แล้ว

ผลสะเทือนทั่วโลกจากรองเท้าบินเพียงหนึ่งคู่ ได้เกิดการเลียนแบบต่อมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีการขว้างรองเท้าใส่ประธานาธิบดี หู จิน เทา ของจีนในการแถลงข่าวเยือนประเทศอังกฤษ

พัฒนาการรูปแบบการปาสิ่งของเข้าใส่บุคคลสาธารณะที่แสดงออกถึงการต่อต้านและขับไล่นี้ แต่ก่อนเราอาจจะคุ้นเคยกับการปามะเขือเทศ หรือไข่ในต่างประเทศ หรือในกรณีของประเทศไทยก็เคยมีการปาอุจจาระใส่ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น และการปาไข่ใส่ คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีในการไปลงสนามช่วยหาเสียงให้กับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดลำพูนและลำปางในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อคราวที่แล้ว โดยที่เรื่องเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจหรือแสดงความเป็นปรปักษ์ทางการเมือง แต่ภาคปฏิบัติการของการปารองเท้าในครั้งนี้ (แม้ว่าจะเกิดขึ้นที่เบลเยียมก็ตาม) เป็นการแสดงออกด้วยปฏิกิริยาที่ค่อนข้างก้าวร้าว และไม่ใคร่เป็นที่นิยมปฏิบัติกันก่อนหน้านี้ เกิดในภาคส่วนกิจการเอกชน

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ไหมที่การแสดงออกในการต่อต้านแบบนี้ได้รุกล้ำจากพื้นที่ทางการเมืองไปยังพื้นที่ที่เป็นการบริหารในภาคธุรกิจเอกชน โดยทั้งสองพื้นที่ข้างต้นนั้นเป็นการกระทำที่มาจากภาคประชาสังคม หรืออาจจะพูดอีกแบบหนึ่งว่า ภาคประชาสังคมได้ใช้เครื่องมือในทางการเมือง ที่เป็นเครื่องมือในทางตรง ไปใช้ปฏิบัติการในภาคส่วนอื่นที่เป็นชีวิตประจำวัน

ประเด็นต่อมาก็คือภาคธุรกิจในบ้านเรา เท่าที่เคยมีการแสดงออกถึงความไม่พอใจของผู้ถือหุ้นรายย่อย ต่อการประชุมใหญ่ของ อสมท.ที่ไม่เห็นด้วยต่อการแต่งตั้งบอร์ดเพิ่มเติมเมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงแค่การ ?วอล์คเอาท์? ออกจากที่ประชุมและเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นการตอบโต้ ซึ่งก็เกิดผลในทางปฏิบัติที่จะหยุดยั้ง หรือชะลอการตัดสินใจของที่ประชุมไว้ได้

แต่หากพิจารณากันต่อไปก็จะพบว่า ท่ามกลางการก่อการที่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองของทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับเครือข่ายฝ่ายเสื้อแดง-แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ที่ต่างฝ่ายต่างก็จัดสร้างเครือข่ายกลุ่มพลังทางการเมืองทั้งในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กับระบบประชาธิปไตยทางตรง โดยการเคลื่อนไหวแบบการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนปัจจุบัน ก็อาจจะเป็นการสะสมที่ยาวนานเพียงพอต่อการสร้างผลสะเทือนและขยายผลข้ามเขตแดนของพื้นที่ทางการเมือง ไปยังพื้นที่ของการดำเนินธุรกิจ เพราะฉะนั้นภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยควรต้องระมัดระวังตั้งแต่นี้เป็นต้นไปในการจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชน เพราะพัฒนาการการเลียนแบบรองเท้าบินแบบที่เกิดขึ้นกับธนาคารฟอร์ทิสของเบลเยียมที่กล่าวถึงข้างต้นอาจจะมาถึงประเทศไทยได้เหมือนกัน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีผลสะเทือนทางสังคมค่อนข้างสูง เพราะทำให้กรรมการบริษัทได้รับความอับอายขายหน้าโดยที่ไม่สามารถอธิบายกับสังคมได้

แท้ที่จริงแล้วการเคลื่อนตัวของภาคประชาสังคมที่ปะทะกับกิจการเอกชน ในบ้านเรานั้น เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยต่อเนื่องมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการเอกชนขนาดใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยที่มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวในการชุมนุมในทางการเมือง ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการที่ก่อการขึ้นมาจากภาคประชาสังคม เช่นกัน

อนึ่ง ปฏิบัติการที่ต่อต้านต่อการดำเนินการของเอกชนนั้น หรือสินค้า หรือยี่ห้อสินค้าต่างๆในโลกทุนนิยมนั้น ก็เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วเช่นกัน แต่การแสดงออกหรือภาคปฏิบัติการไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะของการชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่ แต่จะเป็นการแสดงออกในเชิงการสร้างสัญลักษณ์ ในการบอยคอต หรืออย่างมากก็เป็นการแสดงออกล้อเลียนที่เรียกในภาษาโฆษณาว่า cultural jamming ที่เรามักจะเห็นเป็นการล้อเลียนโฆษณาของยี่ห้อดังๆ โดยเฉพาะของต่างประเทศ

ผมยังไม่แน่ใจว่าโลกได้ก้าวมาถึง ณ จุดที่เครื่องมือที่แสดงออกถึงความเป็นปรปักษ์หรือความไม่พอใจทางการเมืองจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะระบายความโกธรแค้นในโลกของธุรกิจแล้วหรือไม่ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมรองเท้าบินต่อที่ประชุมบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การทำแผนธรรมาภิบาลและทำแผนการควบคุมคอร์รัปชันด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง รวมทั้งการรายงานผลการดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา และที่สามารถตรวจสอบได้จริง อาจช่วยควบคุมพฤติกรรมการแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงของผู้ถือหุ้นบางส่วนได้

โดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล