วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งกับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

รัตพงษ์ สอนสุภาพ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม www.thaigoodgovernance.org
คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง รอบแรกวงเงิน 199,960 ล้านบาท ให้กับ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข

การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้กระทรวงและหน่วย งานต่างๆ มีดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 48,078 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 45,389 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 39,900 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 14,500 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 11,515 ล้านบาท และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11,389 ล้านบาท รวม 6 กระทรวง เป็นเงิน 170,771 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของเงินทั้งหมด ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่เหลือได้รับการจัดสรรเงินรวมกันเป็นเงิน 25,785 ล้านบาท และมีรัฐวิสาหกิจอีก 6 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรร รวมเป็นเงิน 3,405 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.9 และ 1.7 ของเงินทั้งหมดตามลำดับ

แหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินโครงการมาจาก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท รวมถึงการกู้เงินภายในประเทศตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ

หากมองความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจในการจัดสรรเงิน งบประมาณของพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีอำนาจต่อสูง ทั้งๆ ที่มีจำนวน ส.ส.ในพรรคน้อยกว่าสองพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนากำกับดูแล อย่างเช่น กระทรวงเกษตรฯ ได้รับสรรการจัดเงินงบประมาณมากที่สุด ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับสองในรัฐบาล กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณเป็นอันดับสาม ขณะที่พรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับสรรจัดงบประมาณมากเป็นอันดับสอง กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ได้รับสรรจัดเงินงบประมาณเป็นอันดับสี่ และห้าตามลำดับ

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรเงิน 11,515 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลระดับจังหวัดจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ และปรับปรุงโรงพยาบาลระดับตำบล ต่อมาได้ถูกชมรมแพทย์ชนบทร้องเรียนว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทาง การแพทย์ ทำให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อ ตรวจสอบ ซึ่งบุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนั้น ล้วนแต่เป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับและน่าเชื่อถือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช หรือพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ ซึ่งก็น่าชื่นชมรัฐบาลที่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหานี้

แต่การแก้ปัญหาอย่างนี้ของรัฐบาล น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณน้อยกว่าอีกห้ากระทรวงหลัก และเงินก็ถูกใช้ไปเพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่เงินอีกจำนวนมากกว่า 1.43 ล้านล้านบาท จะถูกใช้จ่ายต่อเนื่องกันไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า และงบประมาณส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการตระเตรียมจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นรัฐบาลควรเน้นป้องกัน ควบคุมปัญหาการทุจริตเชิงระบบโครงการอื่นๆ ไปด้วย เพราะเชื่อเหลือเกินว่าหากรัฐบาลยังไม่มีกลไกกำกับดูแลที่ดี ปัญหาการทุจริตในโครงการนี้ก็จะทยอยโผล่ออกมาให้ประชาชนได้เห็นเป็นระยะๆ นั้นก็อาจหมายความว่า ความน่าเชื่อของรัฐบาลก็หมดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ปัญหาการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ส่วนสาเหตุที่เรื่องมาแดงในกระทรวงนี้ก่อน เพราะว่ากลไกการตรวจสอบถ่วงดุลกันภายในกระทรวงมีมากกว่าข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เนื่องจากว่าบุคลากรทางการแพทย์ มีความเป็นวิชาชีพ และมีอิสระมากกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ

นักทฤษฎีคอร์รัปชัน อาทิเช่น Werner กล่าวว่า การทุจริตมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อมีช่องทาง และถ้าผู้นำประเทศไม่ให้ความสนใจปัญหาการทุจริตก็จะสูงไปด้วย ยิ่งถ้านักการเมืองขาดความซื่อสัตย์สุจริต ขณะที่ประชาชนก็ไม่เข้าใจผลกระทบจากการทุจริต รวมทั้งภาครัฐขาดระบบควบคุมการทุจริตที่ดีมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ Warioba ที่กล่าวว่า การทุจริตเกิดจากความสัมพันธ์ของเครือข่ายทางธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้นำทางการเมืองที่เป็นรัฐบาลและนักธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเชิงอุปถัมภ์ระหว่างกัน โดยนักธุรกิจให้สินบนผู้นำทางการเมืองขณะที่นักการเมืองให้สิทธิสัมปทานหรือ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจอื่นๆ ให้แก่นักธุรกิจที่เป็นพวกพ้อง

ดังนั้น ปัญหาการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลละเลยปัญหา ไม่จริงจังดำเนินการ เพื่อป้องกันแก้ไขในเชิงระบบ รัฐบาลไม่ควรมองว่า การทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นเท่า นั้น แต่รัฐบาลควรมองกระบวนการทุจริตทั้งหมดอย่างเป็นระบบและหาทางแก้ไขมากกว่า อาทิเช่น การตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ เป็นกลางมาตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งคู่ขนานไปกับฝ่ายการเมืองที่รัฐบาลตั้ง ขึ้นก่อนหน้านั้น อาจจะทำหน้าที่คล้ายกับ คตส. ก็ได้ แต่ขอให้มีอิสระในการตรวจสอบ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบสิ้นสุดแล้ว ให้เสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อการตัดสินใจเชิงบริหารในฐานะผู้นำประเทศต่อไป

เผยแพร่ครั้งแรกที่: กรุงเทพธุรกิจ 26-10-52

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทำไมต้องหยุดใช้การประมูลแบบอีออคชั่น กับโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน

โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค

ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การประมูลแบบอีออคชั่น มาจากคำเต็มภาษาไทย ว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (eAuction) ระบบนี้ คือ การให้ผู้ขาย หรือผู้รับเหมางานราชการ ไม่ต้องมายื่นราคาแบบใส่ซองปิดผนึก แต่ให้เสนอผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยนั่งเคาะราคาแข่งประมูลกันได้หน้าจอ คอมพิวเตอร์ ใครเคาะราคาต่ำสุดก็จะได้งานไป

อีออคชั่น ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2549 ในยุครัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในยุคที่นายกรัฐมนตรีสั่งแล้ว ข้าราชการผู้ใดไม่รีบดำเนินการ ก็จะมีภัย ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่เร่งรีบใช้ อีออคชั่นกับงานจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ตั้งแต่วงเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า งานประมูลก่อสร้าง สัญญา แสนล้าน ทำรถไฟใต้ดิน หรือสร้างสนามบินใหม่ หรือจะเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ก็จะใช้วิธีเคาะเสนอราคา วิธีเดียวกันทั้งหมด โดยข้าราชการต้องรีบทำ ไม่กล้าทักท้วง แม้รู้ว่าผิดก็ต้องทำไปก่อน เช่นคำที่นายกฯ ทักษิณใช้เรียกว่า อีออคชั่น นั้นก็ผิดไม่ถูกต้องก็ไม่มีใครกล้าทักท้วง ที่จริงคำว่า ออคชั่น (Auction) นั้น ใช้กับการประมูลแข่งขันราคาเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด อาทิเช่น ใช้ในการประมูล ภาพเขียน ประมูลซื้อของส่วนตัวคนสำคัญ เป็นต้น แต่เวลาที่นำมาใช้กับการประมูลงานราชการ เราจัดประกวดราคาเพื่อให้ได้ คนที่จะเสนอราคา ค่าทำงาน หรือจัดสินค้าให้ราชการในราคาต่ำสุด ในที่สุด ก็ต้องแก้คำศัพท์ให้ถูกต้อง โดยต้องให้มีชื่อที่ท่านนายกฯ ได้มีการตั้งชื่อไว้แล้วว่า อีออคชั่น ต้องยังคงอยู่ โดยให้เติมไปเป็น คำว่า "รีเวิร์ส อีออคชั่น" (Reverse e-Auction)

แม้แต่ธนาคารโลก ก็ยังประหลาดใจในระบบอีออคชั่น แบบไทยๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยได้ชี้ว่าประเทศไทยต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัด จ้างด้วยวิธีประมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรืออีออคชั่นใหม่ เพราะวิธีอีออคชั่นของไทยแตกต่างจากต่างประเทศในโลกมาก ที่ใช้ระบบอีออคชั่นกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้เฉพาะการจัดซื้อครุภัณฑ์ ทั้งยังไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงินและแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่สำคัญ แม้จะใช้วิธีนี้เมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิด ระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ผู้แทนธนาคารโลกจึงแนะนำให้ใช้วิธีอื่น

หลักการที่ไทยนำมาใช้ ที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล (ฮั้ว) ก็ไม่ได้ผล เมื่อนำมาใช้ ก็เกิดปัญหา ยิ่งกว่าระบบ เปิดซองประมูลเดิม ฮั้วได้สะดวก ยิ่งกว่าเดิม เพราะการทำระบบอีออคชั่นจริงๆ แล้ว ในปัจจุบันจะเป็นระบบ ที่ผู้เสนอราคาต้องไปรวมตัวกันในสถานที่ที่กำหนด คือ ตลาดกลาง แล้วไปนั่งในห้องที่มีคอมพิวเตอร์ให้เคาะราคากัน ดังนั้น ก็ไม่แตกต่างกับการต้องไปปรากฏตัวยื่นซองประกวดราคาตามแบบเดิม และมีการตกลงสมยอมราคาก่อนเริ่มต้นประมูลที่ตลาดกลางกันได้สะดวก เห็นได้ชัดจากว่าผลการเคาะราคาประมูลงานก่อสร้าง ภายหลังการใช้ระบบอีออคชั่น ผู้ชนะงานก่อสร้างมักจะมีราคาใกล้เคียงกับราคากลาง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในการประมูลแบบยื่นซองยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนจากหนึ่ง ในหลายร้อยผลการประมูล อาทิเช่น ผลการประมูลแบบอีออคชั่น ในงานก่อสร้างถนนลาดยาง ที่จังหวัดชัยนาท เมื่อมีนาคม 2551 ที่มีราคากลาง 5,000,000 บาท

มีผู้เข้าประมูลเคาะราคา 4 ราย รายที่ชนะประมูลไปเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางไปเพียง 1,000 บาท (เสนอ 4,899,000) ผู้เสนอรายที่ 2 สูงกว่าผู้เสนอรายที่ 1 เพียง 500 บาท (เสนอ 4,899,500) ผู้เสนอรายที่ 3 (เสนอ 4,899,700) และผู้เสนอรายที่ 4 (เสนอ 4,899,900) ราคาต่างกันเพียง 200 บาท ผลแบบนี้แสดงว่าไม่ได้มีการแข่งขันกันอย่างแน่นอน เรียกกันว่า งานนี้ฮั้วกันสำเร็จ

ผลการประมูลทั่วประเทศ ก็ไม่ต่างจากตัวอย่างที่นำมาให้ดูนี้เท่าใดนัก หาดูได้อีกมากจากผลการประมูลทั่วประเทศ ที่จะมีประกาศในเว็บของหน่วยราชการนั้นๆ เป็นการแสดงความโปร่งใสของผู้บริหารว่าไม่มีเจตนาจะปกปิดผลการประมูล แต่ก็ไม่ช่วยให้การโกงหมดไป หากยังใช้ระบบอีออคชั่น อยู่ที่เอื้อต่อการฮั้ว มากกว่าเดิมเสียอีก

ปัญหาในการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ อิเล็กทรอนิกส์ อีออคชั่น ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ยังมีอีกมาก ที่หลายฝ่ายทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำลังร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ทราบปัญหาที่วงการธุรกิจประสบอยู่ โดยยอมรับว่าระบบอีออคชั่นนั้นมีประโยชน์ และใช้ได้กับการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ทั่วไปที่เป็นของประเภทครุภัณฑ์มาตรฐาน (Common Goods) อาทิเช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระดาษ ซึ่งไม่มีความซ้ำซ้อนและไม่มีวงเงินสูง ดังเช่นที่นานาชาติใช้อยู่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับงานการประมูลก่อสร้าง ซึ่งมีรายละเอียดรายการราคาต่างๆ นับพันรายการในโครงการเดียวกัน งานการประมูลจัดซื้อประเภทสินค้าและบริหารสินค้าเทคโนโลยี และงานการประมูลจัดซื้อพัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาทิเช่น สินค้าเวชภัณฑ์ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอให้ยกเลิกการใช้ระเบียบอีออคชั่นกับงานก่อสร้างไปเลย ทั้งยังให้ข้อมูลว่าการดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนของอีออคชั่น ที่อ้างว่าจะประมูลได้รวดเร็ว กลับเป็นงานเพิ่มเติมที่ซ้ำซ้อนและล่าช้าโดยไม่จำเป็น ในงานก่อสร้างหลายประเภทที่มี มีการจัดชั้นผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้แล้ว มีแบบก่อสร้าง และทีโออาร์ ที่เป็นมาตรฐานไว้ครบถ้วนแล้ว

โครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน เป็นตัวอย่างใหญ่ ระดับวงเงิน 5-6 หมื่นล้านบาท อีกอันหนึ่งของประเภทงานการประมูลจัดซื้อพัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่เฉพาะการร่างคุณสมบัติรถเมล์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ ขสมก ต้องการ หรือทีโออาร์ (Term Of References) ยังต้องแก้กันมาถึง 11 ครั้งแล้ว ก็ยังมีจุดที่ยังถกเถียงกันอยู่ โครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน นี้ ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะใช้การประมูลแบบ eAuction ที่ตามระเบียบแล้ว แม้มีผู้เข้าประมูลเพียง 2 ราย ก็พอเพียงเริ่มเคาะราคากันได้แล้วในวันประมูล 2 รายนี้จะรู้กันเองก่อนแล้วว่าใครเป็นใครก่อนวันประมูลแน่นอน เพราะจะต้องผ่านขบวนการคัดเลือกประกาศชื่อว่าผู้ใดจะมีสิทธิ เข้าเคาะราคา ลองวาดภาพในวันประกวดราคา ที่ผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 2 ราย ก็จะต้องไปเจอหน้ากันที่ศูนย์การประมูลกลาง ไปนั่งอยู่ตู้กระจกข้างๆ กัน เคาะราคาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 5 เมตร ซึ่งเคาะราคาแบบนี้น่าจะทำได้ ด้วยการยกป้ายราคาชูขึ้นเป็นครั้งๆ ก็ไม่ง่ายกว่าหรือเดาไว้ก่อนว่าผลการเคาะราคาที่ต่ำสุดจะออกมาแตกต่าง จากราคากลางแบบเฉียดฉิวไม่ถึง 1% ตามตัวอย่างที่ยกมาให้ดู ถ้าราคากลาง 60,000 ล้าน ต่ำสุดน่าจะออกมาด้วยวิธีอีออคชั่นนี้ที่จะได้สัญญาก้อนใหญ่ไปในราคา 99% ของราคากลาง หรือเท่ากับ 59,400 ล้าน ที่ผ่านมาสถิติการประมูลงานก่อสร้างที่ใช้ระบบนี้ ผู้รับเหมาที่ชนะก็มักจะได้ราคาใกล้เคียงราคากลางแบบเฉียดฉิวแบบนี้เป็น ประจำ

เราจะยังจะยังยินยอมให้ใช้อีออคชั่น กับงานเช่ารถเมล์ระดับมูลค่า 60,000 ล้านนี้ อีกต่อไปไหม

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 12-10-52