วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปัญหาการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสังคมไทย

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

การทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไทยจากอดีตจวบจนปัจจุบันถูกมองจากสังคมว่า ได้กลายเป็นปัญหาวิกฤติอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนมาช้านาน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่อำนาจบริหารของรัฐบาล และเป็นตัวแทนของอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทางในกระบวนการสรรหาของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐตามกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ด้วย จึงทำให้นักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งข้าราชการและนักธุรกิจมีโอกาสเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรมตามขั้นตอนต่างๆ ได้เพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องด้วย


ซึ่งแต่เดิมนั้นกระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ใช้ระบบเดียวกับการดำเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นและบุคคลธรรมดาทั่วไป กล่าวคือ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามี 2 ประเภท คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย พนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีโดยชอบแล้ว ส่วนผู้เสียหายนั้น แม้จะนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้เองก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย กล่าวคือ หากเป็นคดีที่ผู้ต้องหาฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งโดยสภาพรัฐเท่านั้นเป็นผู้ได้รับความเสียหาย บุคคลอื่นจะนำคดีนั้นมาฟ้องเองไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการดำเนินคดีอาญาที่ใช้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดอาญาทั่วไปมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังกล่าวจึงไม่ได้ผล เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการนำตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดฐานทุจริตประพฤติมิชอบมาลงโทษ เพราะเป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อน ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอิทธิพลและบารมี อีกทั้งระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติทั่วไป ที่ให้ฝ่ายผู้กล่าวหาเป็นผู้พิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยศาลจะต้องวางตัวเป็นกลาง ก็ไม่อาจจะเป็นฝ่ายค้นหาข้อเท็จจริงเองได้ง่ายนัก


แม้ว่าต่อมาจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเป็น "คณะกรรมการพิเศษ" ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 324 และ 325 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 แต่คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งกำเนิดขึ้นในยุคเผด็จการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการที่วางไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพลเรือนของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ขึ้นมาดำเนินการ แต่การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอิสระและอำนาจในการวินิจฉัยภายหลังจากที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 26 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) เพื่ออายัดทรัพย์สินของนักการเมืองที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติมาเป็นของแผ่นดิน แม้ได้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน


จนกระทั่ง เมื่อประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ก่อกำเนิดรูปแบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจัดการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นโดยเฉพาะ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ได้ปรับปรุงระบบการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นใหม่อีก โดยพยายามอุดช่องว่างของปัญหาที่เคยเกิดในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540


จนถึงปัจจุบันศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาไปแล้วรวม 5 คดี คือ ในปี 2544 คดีนายจิรายุ จรัสเสถียร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,90,148,157 ในปี 2546 คดีนายรักเกียรติ สุขธนะ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ในปี 2548 คดีพลตำรวจเอกวุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,158 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 125 ในปี 2550 คดีอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันมีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียจากการเข้าไปประมูลทรัพย์สินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100,122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157
นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีคดีนายวัฒนา อัศวเหม ว่าด้วยความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนในปี 2551 ก็มีคดีรายการ "ชิมไปบ่นไป" ของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยความผิดฐานการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550


ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคู่ขนานไปกับการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม มุมมองใหม่ๆ ที่ว่านั้น อาจเป็นมุมมองเชิง "นิติ-เศรษฐศาสตร์" โดยเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดทฤษฎีทางนิติศาสตร์กับแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน เพื่ออธิบายพฤติกรรมและรูปแบบการทุจริต ควบคู่กับการสร้างกลไกทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อควบคุมการทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด


เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 31-08-52

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกิดอะไรขึ้นที่มาบตาพุด?

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

เกิดอะไรขึ้นที่มาบตาพุด?
เป็นคำถามที่หลายฝ่ายได้ถามกับภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขึ้นเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี 2523
คำถามข้างต้นถี่ขึ้นและมีเสียงดังมากขึ้นตามลำดับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ภาครัฐตกอยู่ในภาวะที่ตั้งรับแบบกระท่อนกระแท่น ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ

ที่พูดเช่นนี้ได้ก็เพราะมีกรณีที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดฟ้องการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นคดีต่อศาลปกครองในกรณีอนุญาตให้มีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยการอนุมัติของ กนอ. โดยศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ให้ กนอ.ชำระค่าตอบแทนต่อเทศบาลเมืองมาบตาพุดเป็นเงินจำนวนมากถึง 400 ล้านบาท เป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันที่ไม่ไปด้วยกัน หรือไปไม่พร้อมกันขององคาพยพของรัฐระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

ปี 2549 (25 ปีหลังจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก) ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

และต่อมาก็ได้มีการยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ให้ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ของมาบตาพุดและเมืองระยองบางส่วน เป็นเขตควบคุมมลพิษตามแนวทางของกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ในเรื่องนี้ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ให้ท้องที่ของเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 กรณีนี้ก็เป็นการสะท้อนการไม่ไปด้วยกันของภาครัฐ/ภาคนอกรัฐ ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มีการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว (ผ่านอีไอเอแล้ว/มีการดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของอีไอเอแล้ว)

อีกฝ่ายหนึ่งมีคำถามว่า ทำไมจึงมีการเจ็บป่วยและความเดือดร้อนของชุมชนโดยรอบอยู่เนืองๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นการสะท้อนการไม่เชื่อมั่นในมาตรการหรือกลไกที่รัฐกำกับดูแลเป็นการแสดงออกถึงความต้องการที่จะขอเข้ามามีส่วนร่วม (Part-Taking) ในการจัดการในเรื่องนี้ เป็นการแสดงออกโดยทางตรง โดยผู้แทนของชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นๆ โดยไม่อาศัยบทบาทหรือสถานะของผู้แทนในระบบการเมืองที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. ส.ท. ส.อบต. หรือตัวแทนประเภทใดก็แล้วแต่ที่มีอยู่แต่เดิมเป็นลักษณะการแสดงออกทางการเมืองแบบทางตรง (Direct Democracy) โดยใช้ช่องทางหรือกลไกอื่นของรัฐที่มีอยู่ในที่นี้คือศาลปกครอง ที่ตนเองสามารถใช้การได้โดยตนเองในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการดำเนินการตามวิถีการเรียกร้องให้นับรวมเอาปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารจัดการประเทศ ตามครรลองของการเมืองภาคพลเมืองโดยการชุมนุม

โดยการขัดขวาง โดยการล้อเลียน ฯลฯล่าสุด 19 มิถุนายน 2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรี 5 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง กนอ.

เพื่อเรียกร้องให้การพิจารณาอนุมัติอีไอเอเป็นไปตามความในมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้องค์กรอิสระที่มีผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มาให้ความเห็นรองรับก่อนจะมีการดำเนินการความก้าวหน้าในเรื่องนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้คู่กรณีไปจัดทำแผนที่ตั้งโรงงานทั้ง 76 โรงงาน ว่ามีที่ตั้งอยู่ที่ใดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก่อนที่ศาลจะมีดุลพินิจสั่งการประเด็นปัญหาทั้ง 3 กรณีข้างต้นนั้นห้อมล้อมอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาอนุมัติการจัดทำมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันโดยย่อว่าอีไอเอ ซึ่งเป็นมาตรการที่ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในปี 2535 (ปีที่ประกาศใช้บังคับกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535)

แต่กำลังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลและกำลังถูกแทนที่ด้วยมาตรการที่ใหม่กว่าตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือ บทบาทขององค์การอิสระและสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เพิ่มเติม/ตรวจสอบ/สอบทาน/คานความเห็นกับความคิดเห็นของผู้ชำนาญการ และกระบวนการพิจารณาอนุมัติของอีไอเอ เท่ากับว่าสังคมไทยได้พากันเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งที่เคยยืนอยู่ตามกติกาที่เคยยึดอยู่แต่เดิม เป็นการขยับตัวทางสังคมตามกรอบความคิดของ Gilles Deleuze และ Felix Guattari ที่พูดถึงเรื่องเส้นแบ่ง/เขตแดนกำลังเปลี่ยนแปลงของสังคมที่แต่เดิมเคยยอมรับซึ่งในที่นี้ก็คือเรื่องของการพิจารณาอนุมัติอีไอเอ

ในประเด็นความคิดเห็นของผู้ชำนาญการ ที่กำลังถูกตั้งคำถามและนำไปสู่การกำหนดกติกากันขึ้นใหม่ โดยเป็นความคิดเห็นขององค์การอิสระและสถาบันอุดมศึกษาหรือพูดได้ว่า สังคมกำลังลบเส้นแบ่ง/เขตแดนเดิมทิ้งไป (Deterritorialization) และกำลังลากเส้นแบ่งและเขตแดนกันขึ้นใหม่ (Reterritoralization) ขึ้นมาแทนสภาวะทางสังคมเช่นนี้ จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาว่า จะนับว่าตรงไหนเป็นจุดสิ้นสุดของกฎเกณฑ์เดิม และตรงไหนเป็นจุดเริ่มต้นของกติกาที่สร้างขึ้นใหม่ และกระบวนการแทนที่ของกติกาใหม่ย่อมไม่เป็นไปแบบราบเรียบอย่างแน่นอน

เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายใดเป็นผู้ได้รับหรือเสียประโยชน์จากกติกาเดิม/ใหม่อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดจะต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย(1) ภาครัฐที่เป็นหน่วยงานด้านกำกับดูแลที่จะต้องเร่งรัดการสร้างกติกาใหม่แทนกติกาเก่า (2) ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุมัติอีไอเอไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่ควรได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ/เงื่อนไขเดิมความเห็นในลักษณะนี้จะสอดคล้องกับแนวการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ที่มีความเห็นว่า การดำเนินตามมาตรา 67 นั้น

รัฐจะต้องกำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติเสียก่อนโดยอิงความตามมาตรา 303 ประกอบกัน ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายก็ย่อมต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายเดิม (กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535) ไปก่อนแต่ในขณะเดียวกัน การจะปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น (ในระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลปกครอง) นั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ไม่ควรจะละทิ้งประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนโดยรอบ ไม่ควรจะต้องรอจนกระทั่งมีการปรับปรุงข้อกฎหมายจนเป็นที่แล้วเสร็จแบบแป๊ะๆ และจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบและนำพาต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีการริเริ่มดำเนินการโดยคำแนะนำ ตรวจทาน ตรวจสอบมาตรการการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยสถาบันที่ทำหน้าที่ในทำนองเดียวกับมาตรา 67 ไปพลางก่อน

ย่อมจะเป็นการสร้างภาคปฏิบัติการร่วมกันภายใต้เงื่อนไขใหม่ เส้นแบ่งใหม่/เขตแดนใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างแท้จริง เป็นการสร้างสังคมที่ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมสร้างอย่างแท้จริง

เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชน 23-08-52

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มาร่วมกันเป็น สายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
ศูนย์บริการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ในที่สุด เม็ดเงินสำคัญ 800,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องการก็ได้ผ่านขั้นตอนสำคัญ คือ การผ่านร่างกฎหมายทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. ผ่านจากทั้ง 2 สภาแล้ว แต่ภัยที่ร้ายแรงต่อความสำเร็จในโครงการนี้ และเป็นภัยร้ายแรงต่อความอยู่รอดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองยังมีอีก


นั่นก็คือ การป้องกันไม่ให้ เงิน 800,000 ล้านบาท รั่วไหลและถูกการทุจริตนำไปใช้ในผิดที่ผิดทางจนไม่ได้ผลในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการ และรัฐบาลอาจไม่อยู่รอดจนใช้เงินครบ ที่ตั้งใจไว้


วุฒิสภาได้ติงไว้ว่า รัฐบาลยังขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเดิมเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ จะไม่มีส่วนในการตรวจสอบเลย กลายไปเป็นอำนาจตรวจสอบกันเองของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล


วุฒิสภา ในที่สุดก็ได้รับการอธิบายจนมีความเชื่อมั่น ว่า จะมีระบบที่ดูแลการใช้เงินให้ปลอดการคอร์รัปชันได้ ตามที่ฟังคำมั่นจากนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้คำมั่นกับสมาชิกวุฒิสภาว่า จะกำกับดูแลไม่ให้มีการทุจริตในโครงการต่างๆ พร้อมย้ำอย่างมั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนจากลบมาเป็นบวกได้แน่นอน


นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในอดีตที่ยังเป็นฝ่ายค้านมีคนถาม ว่า ถ้ามีอำนาจแล้วจะรับประกันได้หรือไม่ว่า จะไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น ท่านตอบว่าไม่รับประกันว่าจะแก้ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่า ถ้าผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยกันดูแลรัดกุม การทุจริตจะมีน้อย แต่ถ้ามีก็จะไม่ปล่อยไว้แน่ และจะแจ้ง ป.ป.ช. ด้วย


ความจริงที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทราบอยู่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันคอร์รัปชันของระบบราชการไทยในขณะนี้ยังไม่ได้ผลนั่นเองจึงไม่กล้ารับประกัน และที่น่าเป็นห่วงมาก ก็คือ เงินกู้ 800,000 ล้านบาทนี้ ก็เป็นระบบการใช้เงินแบบใหม่ ที่ยังไม่มีระบบป้องกันและตรวจสอบที่ดีนั่นเอง


ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่าสำนักงบประมาณ จะยังเป็นผู้กำกับดูแล ตั้งแต่ขั้นการตรวจสอบโครงการ ขั้นประมูล และทำราคากลางที่จะใช้ในการประมูล ฉะนั้นจะไม่แตกต่างจากระบบปกติ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นภาพไปในทางร้ายเหมือนๆ เดิม มากกว่าจะให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยมีปัญหา แม้การนำระบบใหม่ๆ เข้ามา อาทิเช่น ระบบการประมูลทางอินเทอร์เน็ต ก็เกิดปัญหามากกว่าเดิม


นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ก็ได้เคยกล่าววิจารณ์ระบบวิธีจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ว่า ยังมีปัญหาอยู่เดิมอยู่แล้ว อาทิเช่น กรณี อีออคชั่น ว่า


ประเทศไทยต้องทบทวนวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรืออีออคชั่น เพราะวิธีอีออคชั่นของไทยแตกต่างจากต่างประเทศในโลกมาก เราใช้ระบบอีออคชั่นกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่นใช้รองรับเฉพาะจัดซื้อครุภัณฑ์ ธนาคารโลกชี้ว่าอีออคชั่นทำให้เกิดอุปสรรคล่าช้างานกองกันเป็นคอขวด อีกทั้งยังไม่ได้ลดการรั่วไหลของเม็ดเงิน และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ที่สำคัญ แม้จะใช้วิธีนี้เมื่อถึงเวลาประมูลก็ยังมีช่องทางให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล แนะนำให้ใช้วิธีอื่น ธนาคารโลก อาสาที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไทยด้านการปรับปรุงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย เพื่อให้มีมาตรฐานเช่นหลายประเทศในโลก


เราต้องยอมลงทุนในด้านงบประมาณ อย่างพอเพียงในการสร้างระบบติดตามและตรวจสอบ การใช้เงิน 800,000 ล้านบาทนี้ ต้องใช้งบเพียง 2% ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อยับยั้งการทุจริตงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนของรัฐ จากยอดเงิน 800,000 ล้านบาท ก็ย่อมคุ้มค่าแน่นอน เพราะไม่เพียงจะป้องกันเงินที่จะศูนย์เสียไปจากการทุจริต 5-10% ซึ่งจะเป็นเงินถึง 40,000-80,000 ล้านบาท ไปให้กับเหล่าคนโกงชาติแล้ว เรายังสามารถตัดวงจร นักการเมือง และข้าราชการ ที่ชั่วร้ายให้ออกไปจากระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ในที่สุด นำเงิน 2% นี้ไปจ้างอาสาสมัครจากนิสิต นักศึกษา ให้ติดตามดูแลโครงการ ให้ไปทำหน้าที่ ร่วมกันเป็นสายสืบอาสา ดูแลเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 แสนล้าน เดิมสิ่งที่ประเทศไทยขาดและเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับการคอร์รัปชันมาก ก็คือ เราขาด "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน" ฉะนั้น กุญแจแห่งความสำเร็จในงานปราบคอร์รัปชัน จึงอยู่ที่ "ผู้นำที่เอาจริง" นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความเชื่อถือว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ไม่คอร์รัปชันและไม่ยินยอมให้คนแวดล้อมคอร์รัปชัน"


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องเป็นผู้นำเองในการเป็นกำลังหลักที่จะนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่แท้จริง ความมั่นคงของประเทศไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ หรือการปกครองประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการที่ประเทศต้องปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 17-08-52

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การท้าทายและก้าวที่สองของ CG

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ในรอบ 10 ปีนี้ แนวคิดบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) จะเป็นกระแสใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการองค์กรในประเทศไทย ทั้งในองค์กรที่เป็นส่วนราชการ ธุรกิจเอกชน และอาจจะรวมถึงองค์การมหาชน


การรณรงค์เรื่อง CG ในไทยอย่างจริงจัง เริ่มที่ภาคธุรกิจเอกชนโดยความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรัฐบาลในขณะนั้น (2544) สนับสนุนให้จัดเป็น "วาระแห่งชาติ" เพราะได้สรุปบทเรียนจากวิกฤติทางการเงินและวิกฤติของระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการในภาคธุรกิจเอกชนขาด ซึ่งความรับผิดชอบที่ดีต่อผู้ถือหุ้น ต่อกิจการโดยรวมของบริษัทและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งต่อมา ในส่วนราชการได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของทุกส่วนงานของภาครัฐ ซึ่งรวมรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย


อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการดำเนินงานตาม CG ในภาคธุรกิจเอกชนหรือการจัดการบ้านเมืองที่ดีของภาครัฐ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ ในสุญญากาศ แต่ได้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ในช่วงหลังจากภาวะวิกฤติ ในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยได้เริ่มรู้จักแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นกระแสการจัดการใหม่ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักความรับผิดรับชอบ (Accountability) และหลักการเคารพและยึดมั่นในหลักกฎหมาย (Rule of Law) คำ แนวคิด และหลักการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากแนวคิดเดิมที่มุ่งติดยึดอยู่กับเป้าหมาย เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันแต่เพียงด้านเดียว วาทกรรมใหม่ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ CG และการบริหารจัดการใหม่ ที่ต้องก้าวตามให้ทันกติกาการแข่งขัน และการจัดระเบียบเศรษฐกิจของโลก
ต้องยอมรับว่า CG เป็นหนึ่งในกลุ่มคำที่เป็นคำนำเข้า และเป็นคำที่อยู่ในระนาบเดียวกันกับคำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งเป็นการนำเข้าที่เข้ามาแทนที่แนวคิด และทางการบริหารจัดการแบบเดิมๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับปัญหาที่เป็นตัวถ่วงรั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ คอร์รัปชัน หรือการขัดกันในประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ฯลฯ


คำถาม ก็คือ ทำไม CG ที่มีการรณรงค์อย่างทั่วด้านในขณะนั้น ซึ่งเป็นกระแสความคิดที่หน่วยงานของรัฐและเอกชนกำหนดเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติไว้ในแผนการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างแพร่หลาย จึงยังไม่อาจต้านทานกับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และเป็นภาระการตรวจสอบของ คตส. ที่ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเป็นเหตุที่นำไปสู่การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเป็นประเด็นข้อขัดแย้งที่สำคัญที่สุดทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีคำถามอีกว่า ทำไม CG ที่มีการรณรงค์กันอย่างเข้มแข็งในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลขององค์กรแล้ว จึงยังไม่อาจจะรับมือกับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้นในการบินไทย การบริหารงานของ กบข. ธอส. การคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้านและเอ็นจีโอที่มาบตาพุด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ กนอ.ในฐานะที่เป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม บริษัทและกิจการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ปตท. SCG โกลว์-สุเอซ ฯลฯ แม้กระทั่งข้อสังเกตของ สตง.ที่มีต่อการใช้จ่ายเงินของ สสส.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะการจัดการแบบองค์การมหาชน


ประเด็นปัญหาข้างต้นพอจะแยกได้เป็นสองส่วนคือ 1. ส่วนที่เป็นปัญหาการละเลยในหลักการบริหารจัดการที่ดี หรือละเลยหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ซึ่งเป็นประเด็นเดิมที่นำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเงิน 2540 อันเป็นส่วนที่มีปัญหากับผู้ถือหุ้น และ 2. ส่วนที่เป็นประเด็นใหม่ คือ การรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการคัดค้านการแปรรูปของสหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท. และการฟ้องศาลปกครองของชาวบ้าน และเอ็นจีโอที่มาบตาพุด


ดังนั้น ประเด็นที่กำลังท้าทายต่อ CG ของไทยในขณะนี้ ก็คือ จะต้องมีการรณรงค์ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในที่มุ่งรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และมุ่งที่จะรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม การมุ่งสู่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ จะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานในแขนงอื่น อาทิเช่น งานประชาสัมพันธ์ งานสร้างพันธมิตรและความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร งานชุมชนสัมพันธ์ หรืองาน CSR นอกจากนั้น ยังอาจจะต้องอาศัยการสร้างประเด็นและวาระในการรณรงค์ร่วมกันเพื่อสร้างวาระแห่งชาติ หรือเป็นการร่วมรณรงค์ในพื้นที่เดียวกัน
ผมคิดว่านี่เป็นขั้นที่สองในการก้าวเดินของ CG ในบ้านเรา ที่เดินต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจทั่วไป และเป็นการทำงานภายในองค์กรของตน เพื่อรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเป็นเบื้องต้น เป็นก้าวที่กำลังเดินไปสู่ความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานข้างเคียง ไปสู่การรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมที่กว้างใหญ่มากขึ้น ผมคิดว่ารูปแบบความร่วมมือและการทำงานในขั้นที่สองของ CG นี่แหละที่จะเป็นภาคปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ และทรงพลังของสังคมที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดและที่เมืองระยอง


ผมเชื่อมั่นในหลักการจัดการที่ดีที่องค์กรชั้นนำอย่าง ปตท. และ SCG ที่มีอยู่ว่าจะสามารถก้าวออกมาเป็นผู้นำ และรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเพียงพอ และผมเชื่อมั่นด้วยว่า CG เป็นหลักการจัดการที่จะนำพาทุกๆ ส่วนของสังคมให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกันได้เช่นเดียวกัน