วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ศาลปกครองยกคำร้อง ทวงสมบัติ ปตท.

ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยกคำร้อง ต่อกรณีที่มูลนิธิผู้บริโภค ขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท.ต้องคืนกระทรวงการคลัง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีนี้มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิ์บังคับคดีนี้ อีกทั้งถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 ... อ่านต่อ

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

นักการเมือง หยุดทำร้ายรัฐวิสาหกิจ !

โดย : รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อตระกูล ยมนาค

ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ระหว่างปี พ.ศ.2550 ช่วงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีพนักงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งลุกขึ้นมาขอเพียงให้องค์กรของตนมีการบริหารที่ดีมีธรรมาภิบาล
ในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2552 จะมีไหม แห่งไหนที่อาจจะเรียกร้องมากขึ้นว่า
นักการเมือง หยุดทำร้ายรัฐวิสาหกิจของเราเสียที !


เลิกส่งพรรค และพวก มาเป็นกรรมการ


รัฐวิสาหกิจของประเทศไทยมีจำนวนถึง 58 แห่ง โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดูแล โดยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนรัฐมนตรีๆ ก็จะมีสิทธิเสนอบุคคลของตนเข้าเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ โดยรัฐมนตรีมักจะส่งญาติ เพื่อน คนในพรรคการเมือง (ต้องยังไม่มีตำแหน่งทางการเมือง) ที่รวมเรียกว่าส่งพรรคและพวกเข้าไปเป็นกรรมการ รัฐมนตรีมักจะเป็นคนกำหนดว่าประธานกรรมการซึ่งจะมีอำนาจมหาศาลว่าจะเป็นใคร


ทั้งนี้ นักการเมืองและรัฐมนตรีมักจะให้เหตุผลว่า เมื่อประชาชนเลือกเขาเข้ามาบริหารกิจการบ้านเมือง ก็คงหมายความว่าให้เขาดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจ อันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความผาสุกแก่ประชาชนโดยตรงด้วย แท้ที่จริงแล้วหากดูรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ดีจ่ายเงินเดือนและโบนัสให้กับกรรมการบริษัทได้มากกว่าล้านบาทต่อปี เช่น รัฐวิสาหกิจที่ดูแลโดยกระทรวงคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ และสาขาสื่อสารนั้น จะมีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มีอาชีพแปลกๆ แต่ไม่ได้มีความรู้ ความชำนาญทางธุรกิจ หรือเทคนิคที่จะให้ประโยชน์แก่กิจการรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เลย ถูกรัฐมนตรีแต่งตั้งเข้าไปเพื่อเป็นการตอบแทนบุคคลที่เคยมีพระคุณเสียเป็นส่วนใหญ่


ลองดูรายชื่อในรัฐวิสาหกิจที่เคยมีรายได้ดี แต่ผลประกอบการจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ จะเห็นว่ามีกรรมการฯ ที่ถูกแต่งตั้งโดยคุณสมบัติที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่กรรมการ ดังเช่น เพราะเคยเป็นอาจารย์ที่เคยช่วยเหลือให้ปริญญาพิเศษแก่ตนบ้าง เพราะเคยเป็นนักธุรกิจที่เคยอุดหนุนค้ำจุนกันมาบ้าง เพราะเป็นญาติของเลขาฯ หรือผู้ใกล้ชิดบ้าง หรือเพราะเป็นคนสนิทที่มีหน้าที่ประจำในการหาเงินส่งเข้าพรรคบ้าง หน้าที่เป็นกรรมการฯ เพื่อหาเงินส่งให้พรรคนี้ มักเป็นข้อขัดแย้งสำคัญ แม้ในยุคที่หัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้นำทำการทุจริตเสียเองก็ตาม เพราะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคร่วม ก็จะไม่นำส่งรายได้เข้ากองกลาง แต่จะไปเก็บไว้เป็นทุนของพรรคร่วม หรือไปเก็บไว้ในกลุ่มของตน มุ้งในพรรครัฐบาล เพื่อใช้เป็นทุนหาเสียงครั้งต่อไป หากครั้งใดทำพลาด ถูกสื่อหรือภาคประชาชนเปิดโปงขึ้นมา ก็จะเห็นว่ามีบ่อยๆ ที่รัฐมนตรีผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นจะได้รับโทษโดยการให้หลุดจากรัฐมนตรีกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจดีๆ ไปเป็นรัฐมนตรีลอย ไม่มีอำนาจหากินได้ต่อไป โดยให้ไปเป็นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี !


กรรมการรัฐวิสาหกิจน่าจะมีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจให้ก้าวหน้าและมีผลประกอบการดีเช่นเดียวกันกับกรรมการของบริษัทมหาชนต่างๆ ทั่วโลก ที่มีผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่จะตัดสินใจเข้าลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทใดๆ ก็จะต้องแข่งขันกันว่าบริษัทใดมีประธานกรรมการและคณะกรรมการที่เก่งกาจกว่ากัน
ในบรรดารัฐวิสาหกิจที่มีการจัดการบริหารที่ดี จะสามารถนำเงินผลกำไรส่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐแต่ละปีเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี นับเป็นรายได้ที่สำคัญของรายได้ในงบประมาณของราชการ แต่รัฐวิสาหกิจที่บริหารดีโปร่งใสมีน้อยราย ในรัฐวิสาหกิจที่มีพรรคพวกนักการเมืองเข้าไปนั่งบริหารในคณะกรรมการบริษัทมาก รายได้ที่เคยมีผลกำไรส่งรัฐบาลกลับมีผลประกอบการตกต่ำ


บางแห่งมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นขาดทุนได้ รัฐวิสาหกิจที่มีกรรมการบริษัทได้จากข้าราชการ นักบริหารธุรกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านวิชาการต่างๆ และมีการดูแลให้เป็นไปตามข้อกำหนดบรรษัทภิบาลที่ดี อย่างเช่น ปตท. สามารถส่งเงินเข้ารัฐบาลได้ถึง 73,346 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2550 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตส่งเงินเข้ารัฐได้ 29,947 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2550 (ปตท. และ กฟผ.กำกับดูแลโดยกระทรวงพลังงาน) 2 รายนี้เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี 2 อันดับต้นๆ ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเป็นอันดับต้นๆ 2 อันดับแรก ได้แก่ ร.ฟ.ท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) และ ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ขาดทุนในปี พ.ศ.2550 พอๆ กันทั้งคู่ รวมแล้วเป็นเงินถึง 12,158 หมื่นล้านบาท (ร.ฟ.ท. และ ขสมก. อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม)


ถ้านำรายชื่อและคุณวุฒิของประธานกรรมการและกรรมการบริษัท ของรัฐวิสาหกิจที่บริหารจัดการดีมีกำไร 2 อันดับแรก คือ ปตท. และ กฟผ. มาเปรียบเทียบ กับรายชื่อและคุณวุฒิของประธานและกรรมการบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง 2 อันดับแรก คือ ร.ฟ.ท.และ ขสมก. มาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นเหตุส่วนหนึ่งส่งผลให้ผลประกอบการถึงได้แตกต่างกันอย่างมากมายดังนั้น กรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ใช่ที่ที่รัฐมนตรีจะใช้เป็นตำแหน่งตอบแทนผู้มีพระคุณอีกต่อไป หรือเป็นเก้าอี้ที่จะยกย่องบุคคลใกล้ชิดที่ตนเองสนิทสนม หากรัฐมนตรีหรือนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่มีอำนาจประสงค์ในเหตุผลโดยบริสุทธิ์ใจ 2 ประการข้างต้นนี้ ขอเสนอว่าให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท ให้ได้เงินเดือนและสิทธิประโยชน์เกือบเท่าหรือเท่ากับกรรมการบริษัทก็ได้ แต่ไม่ต้องไปนั่งบริหารใช้ความคิดให้หนักสมอง แล้วให้คนดีมีฝีมือได้เข้าไปทำหน้าที่ใช้ความคิด นำรัฐวิสาหกิจให้ก้าวหน้ามีผลประกอบการดีขึ้น
การนั่งเป็นกรรมการบริษัทของรัฐวิสาหกิจยังเสี่ยงต่อการได้รับโทษจำคุกและโทษปรับได้เป็นร้อยเป็นพันล้านบาท การนั่งประชุมร่วมลงมติใดๆ ไปที่ภายหลังพบว่ามีผลเสียหายต่อรัฐวิสาหกิจนั้น แม้จะไม่ได้เจตนาทุจริตก็ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 157) มีโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี และหากกรรมการทุจริตอีกด้วยโดยร่วมมือกับนักการเมืองก็จะต้องขึ้นศาลฎีกาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินรวดเร็วศาลเดียวไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา


มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวว่า ในช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรี ว่าท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้กิจการของรัฐแห่งหนึ่ง มีผลกำไรขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ตั้งหน่วยงานขึ้นมาหลายสิบปี ข้าราชการมารายงานว่าเป็นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีไม่ได้ส่งคนของการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากองค์กรของเขา

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 16-01-52

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

ฤๅจะอุ้มการบินไทย (ต่อ)

กมล กมลตระกูล ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2552 เจาะลึกรายงานว่า สาเหตุของปัญหาในการบินไทยเกิดจากนักการเมือง บอร์ด และฝ่ายบริหารเป็นต้นตอ โดยการสั่งซื้อเครื่องบินทุกปีสร้างภาระฐานะการเงิน

ในช่วง 7 ปี รัฐบาลทักษิณมีการสั่งซื้อเครื่องบินถึง 55 ลำ วงเงินกว่า 2.6 แสนล้าน ยุค "สุริยะ" นั่ง รมต.คมนาคม "ทนง" ประธานบอร์ด เป็นเวลา 3 ปี ได้สั่งซื้อกว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ฝ่ายบริหารกอดคอกับฝ่ายการเมืองยุครัฐบาล "สมชาย" ใช้ที่ประชุม ครม. สัญจรเชียงใหม่รื้อมติ ครม.สมัย คมช. จาก "เช่า" เครื่องแอร์บัส 8 ลำ มาเป็น "เช่าซื้อ" แทน วงเงิน 720 ล้านดอลลาร์ อันเป็นต้นเหตุองค์กรทรุดหนักยิ่งขึ้น

ในข่าวเจาะลึกของ "กรุงเทพธุรกิจ" ระบุว่า ครม. ตั้งแต่ปี 2544-2550 หรือช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้มีมติจัดซื้อเครื่องบินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 55 ลำ เป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก การจัดหาฝูงบินของการบินไทยส่วนใหญ่เป็นการซื้อตามนโยบายทางการเมือง

เฉพาะในช่วงปี 2547 สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.ทนง พิทยะ เป็นประธานกรรมการ นายกนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ 14 ลำ มูลค่า 96,355 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องบินโบอิง 777-200 ER จำนวน 6 ลำ แอร์บัส เอ 380 จำนวน 6 ลำ แอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ

กรณีที่เกิดขึ้นกับการบินไทยมีความคล้ายคลึงกับกรณีสายการบิน Aerolineas Argentinas ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของอาร์เจนตินาที่บินทั้งภายในประเทศ และบินข้ามทวีป โดยครอบคลุมร้อยละ 80 ของการบินในประเทศ และร้อยละ 40 ของการบินระหว่างประเทศ มีกำไรจากการประกอบการร้อยละ 5.6 ต่อปี

ประธานาธิบดีเมเนมได้ใช้คำสั่งของประธานาธิบดีขาย Aerolineas Argentinas ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การฝึกสอนการบินที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา

ในการขายสายการบิน Aerolineas Argentinas ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอาร์เจนตินานั้น นายแอนโทนี ฟายย่า ได้เขียนรายงานไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2001 ว่า

สายการบินแห่งชาติอาร์เจนตินา มีเครื่องบิน 28 ลำมีศูนย์ฝึกนักบินที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา มีสำนักงานหรูอยู่ที่ ร๊อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในใจกลางเมืองนิวยอร์กและโรม เป็นเจ้าของสิทธิเส้นทางบินคิดเป็นมูลค่าตลาด 800 ล้านดอลลาร์ แต่ก่อนแปรรูปสิทธิเส้นทางบินนี้ถูกบริษัทเงินทุนเมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch) ของอเมริกาตีราคาไว้เพียง 60 ล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีเมเนมได้ขายไปให้สายการบินไอบีเรียของรัฐบาลสเปน เป็นเงินแค่ 260 ล้านดอลลาร์ โดยยอมให้ขายเครื่องบินโบอิง 747s เพื่อนำเงินมาวางมัดจำ และสามารถใช้เครื่องบินทั้งหมดมาค้ำประกันเงินกู้แล้วโอนให้เป็นหนี้ของบริษัท

ในการขายครั้งนี้ได้ลงบัญชีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขายเป็นเงินสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์
ในการขายครั้งนี้ได้ตีราคาเครื่องบินโบอิง 707 จำนวน 2 ลำ ที่มีอายุ 10 ปี ในราคาเพียง 1.57 ดอลลาร์ หลังจากหักค่าเสื่อมออกไป

เมื่อไอบีเรียซื้อกิจการไปแล้วก็ได้ขายเครื่องบินไปเกือบทั้งหมด เหลือไว้เพียง 1 ลำเท่านั้น นับเป็นโศกนาฏกรรมและบทเรียนของชาวอาร์เจนตินาผู้จ่ายภาษีอากรมาให้นักการเมืองฉ้อฉลร่วมกันปล้นไปให้ต่างชาติขายกิน แล้วตัวเองร่ำรวยบนคราบน้ำตา และความหิวโหยของประชาชน

ปัจจุบันสายการบินอาร์เจนตินาอยู่ในสภาพกึ่งล้มละลาย เพราะสายการบินไอบีเรียของรัฐบาลสเปนได้ขายต่อโดยโยนหนี้ให้รัฐบาลอาร์เจนตินารับไป กลุ่มที่มาซื้อ คือ Air Comet a Consortium ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเจ้าของสายการบินเอกชนในเครือสเปนแอร์ (Spanair) ร่วมกับกลุ่มแอร์ พลัส (Air Plus) และแทรฟเวิล โอเปอร์เรเตอร์ เวียเฮส มาซานส์ (Travel Operator Viajes Marsans) โดยถือหุ้นทั้งสิ้น 92.1%

กรณีศึกษา 2 กรณีนี้ น่าจะนำไปสู่คำถามว่ารัฐบาลหรือกระทรวงการคลังยังสมควรที่จะ "อุ้ม" การบินไทยต่อไป โดยการค้ำประกันเงินกู้เฉพาะหน้าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทหรือไม่ หากยังไม่มีมาตรการป้องกันการเมืองเข้ามาแทรกแซงการจัดซื้อด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะว่าประวัติศาสตร์ก็อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีก และผู้ที่รับภาระ ก็คือ ประชาชนผู้จ่ายภาษีอากรอย่างเราๆ นั่นเอง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 02-03-52