วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ยกเครื่องรถไฟไทย

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์

ศูนย์ริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตอบคำถามในเว็บไซต์นายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ถามท่านเรื่องการปรับปรุงการรถไฟของไทย ว่า "ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้าง ร.ฟ.ท. และยังยืนยันแนวคิดในการแยกการบริหาร ร.ฟ.ท. ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เรื่องของราง การเดินรถ และการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยืนยันว่าไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอางานส่วนใดส่วนหนึ่งไปแปรรูปให้เอกชนเป็นเจ้าของ..."


ผมคิดว่าหนึ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหมดจากจำนวน 58 แห่งทั้งประเทศ ที่มีปัญหาประสิทธิภาพและที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลมากที่สุด คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ปัญหาใหญ่ๆ ของ ร.ฟ.ท. ในขณะนี้ จากมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คือ


ประการแรก การปรับเปลี่ยนบทบาทขององค์กรค่อนข้างล่าช้า ในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่ถือกำเนิดขึ้นของกิจการรถไฟ องค์กรนี้อยู่ภายใต้สังกัด "กรมรถไฟ" ของกระทรวงโยธาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนเป็น "กรมรถไฟหลวง" ในระยะเริ่มต้นนี้กิจการรถไฟเป็นหน่วยงานราชการ


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารโลกได้เสนอให้รัฐบาลไทยปรับปรุงกิจการรถไฟให้มีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ และมีความคล่องตัวเหมือนธุรกิจเอกชน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เสนอ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 กิจการรถไฟซึ่งเคยบริหารงานแบบราชการ จึงกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชื่อว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" กระนั้นก็ดี เกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ระบบ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และการกำกับดูแลภายใน ร.ฟ.ท. ยังไม่สามารถหลุดพ้นออกจากความเป็นราชการได้


ดังจะเห็นได้จาก ร.ฟ.ท. ซึ่งเริ่มต้นขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้ว จนกระทั่งในปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มียอดการขาดทุนสะสมสูงถึงประมาณ 70,000 ล้านบาท และหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างขนานใหญ่ คาดได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยอดขาดทุนนี้จะสูงถึงกว่า 100,000 ล้านบาท การขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของกิจการรถไฟแทบไม่ใคร่ได้รับการดูแลรักษา และมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น


ประการที่สอง การขาดความต่อเนื่องทางด้านนโยบาย ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มี รมว. คมนาคม 7-8 คน มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการการรถไฟกว่า 10 คณะ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยๆ อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ และการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่มาดูแลการรถไฟบ่อยๆ ก็อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน แต่การที่ไปเปลี่ยนคณะกรรมการรถไฟทุกๆ ครั้ง ที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะทำให้การทำงานของคณะกรรมการขาดความต่อเนื่อง และทำให้งานใหญ่ๆ ไม่อาจริเริ่มและดำเนินการต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง


ผมคิดว่าปัญหาของ ร.ฟ.ท. ที่หมักหมมจนเน่าเสียอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง และปัญหาของนักการเมืองโดยตรง เพราะการเปลี่ยนตำแหน่ง รมว.คมนาคม กับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการรถไฟในทุกๆ ครั้ง มักจะกลายเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องที่ รมต. ตั้งกรรมการรถไฟในลักษณะที่เป็นการให้รางวัลตอบแทนทางการเมือง หรือตั้งสมัครพรรคพวกเข้ามาช่วยดูแลผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ มากกว่าจะรับบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่จะเข้ามาพัฒนา ร.ฟ.ท. ผมคิดว่ายอดขาดทุนรถไฟที่สูงขนาดนี้ หากเป็นธุรกิจเอกชนคงถูกฟ้องล้มละลายไปแล้ว


ประการที่สาม การมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการให้บริการการขนส่งทางรถไฟกับการขนส่งทางถนนและทางน้ำ การขนส่งทางรถไฟจะมีบทบาทน้อยกว่ามาก กล่าวคือ ในแง่ของการบริการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด รถไฟมีผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 16 ส่วนในแง่ของการขนส่งสินค้า ในปี พ.ศ. 2549 การขนส่งสินค้าทางรถไฟคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.3 ของปริมาณการขนส่งทั้งหมด ในขณะที่การขนส่งทางถนนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 85.5 การขนส่งทางน้ำภายในประเทศร้อยละ 6.2 การขนส่งทางทะเลร้อยละ 6.0 และการขนส่งทางอากาศร้อยละ 0.01


ประการที่สี่ การกำกับดูแลของคณะกรรมการการรถไฟ การที่ฝ่ายนโยบายมีอำนาจเหนือฝ่ายกำกับดูแล และฝ่ายบริหารของ ร.ฟ.ท. มาโดยตลอด ทำให้คณะกรรมการการรถไฟไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง การกำกับดูแลของคณะกรรมการ จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ซึ่งขาดความโปร่งใส ขาดการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งขาดประสิทธิภาพในการทำงานโดยตลอด
ประการที่ห้า ทัศนคติของฝ่ายบริหารและพนักงาน ที่ควรให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ ร.ฟ.ท. โดยทั่วไปประชาชนถือเป็นผู้เสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล และรัฐบาลได้นำภาษีอากรเหล่านี้มาอุดหนุนกิจการรถไฟเป็นเวลาประมาณ 120 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 30-40 ปี สุดท้ายนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องให้การอุดหนุนกับการขาดทุนของ ร.ฟ.ท.เป็นอย่างสูงมาโดยตลอด ร.ฟ.ท. ควรตระหนักว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้โดยสารของ ร.ฟ.ท. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการ ร.ฟ.ท. ฉะนั้น ร.ฟ.ท. จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความคาดหวังของประชาชนต่อ ร.ฟ.ท. อย่างจริงจัง


ผมเห็นว่าแนวความคิดของคุณอภิสิทธิ์ในการปรับปรุงโครงสร้างของ ร.ฟ.ท. เป็นเรื่องที่สมควรได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกิจการรถไฟให้กลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการขนส่งด้วยราง และมีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพในระดับสูงมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยาวนานตามสมควร สิ่งที่ ร.ฟ.ท. ต้องการในขณะนี้ ก็คือ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายที่เหมาะสม การสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรที่อยู่บนหลักของการมีธรรมาภิบาล


เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 28-09-52

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ทรงศักดิ์ยันเนวินเข้าฟังชี้คดีกล้ายางแน่

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม -->> คดีกล้ายาง

13 คดีคอร์รัปชั่น ที่ดำเนินการตรวจสอบโดย คตส.

เอกสารประกอบการเสวนา "วันนี้ของ คตส. กับก้าวที่สองของการพัฒนาธรรมาภิบาล" เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

(1) การจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด CTX (รวมสายพานลำเลียง)
(2) ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ
(3) ภาษีเงินได้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น (หุ้นชินคอร์ป)
(4) เงินกู้ (EXIM BANK)
(5) การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว
(6) การจัดซื้อกล้ายาง
(7) การจ้างก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์เซ็นทรัลแล็ป (บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เกษตรและอาหาร จำกัด)
(8) แอร์พอร์ตลิงค์
(9) การปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ -กฤษดามหานคร
(10) การจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดยการเคหะแห่งชาติ / บ้านเอื้ออาทร
(11) ร่ารวยผิดปกติ 76,000 ล้านบาทโดยประมาณ / แปลงภาษีสรรพสามิต
(12) การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.
(13) การจัดซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟู (ที่ดินรัชดาภิเษก)

โดย ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

ธุรกิจบาปโดยรัฐกับแหล่งผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้น

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ที่ใช้เป็นหลักและอ้างอิงอยู่เสมอ คือ ความหมายของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งสรุปไว้ว่า รัฐวิสาหกิจ คือ องค์กรของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 (เช่นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ) ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงเป็นหน่วยงานทางธุรกิจ หรือกิจการของรัฐที่มีภารกิจในการให้บริการสาธารณะด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึงเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล จากภารกิจของรัฐวิสาหกิจข้างต้น จึงทำให้รัฐวิสาหกิจ มีลักษณะองค์การและการดำเนินงานที่มีลักษณะผสมระหว่างกิจการเอกชนต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงานและมีเป้าหมายคือกำไรในการดำเนินงานอันเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจกับการเป็นหน่วยงานของรัฐแบบมหาชนซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐที่ต้องดำเนินการต่างๆ ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของกฎหมายและมีเป้าหมายคือผลประโยชน์ต่อส่วนรวมอันเป็นเป้าหมายทางสังคมอีกประการหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนธุรกิจหลากหลายที่รัฐลงมือร่วมดำเนินการ (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ยังคงมีธุรกิจอีกบางประเภทที่รัฐต้องดำเนินการเสียเองด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ลักษณะของธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางด้านศีลธรรมหรือสุขภาพของประชาชน เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล และโรงงานยาสูบ ซึ่งด้วยนัยแห่งเหตุผลนี้เอง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงได้ดำเนินการบริหารจัดการธุรกิจผูกขาดทั้งสองแห่งนี้ไว้เอง และธุรกิจของรัฐที่ดำเนินการนี้ก็สามารถที่จะส่งเงินเข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเสมอต้นเสมอปลายด้วยดีตลอดมา กล่าวคือ ผลการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจประจำเดือนสิงหาคม 2552 ในสาขาอุตสาหกรรมจำนวน 2,201.80 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากโรงงานยาสูบจำนวน 2,000 ล้านบาท และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 201.80 ล้านบาท) ในสาขาพาณิชย์และบริการจำนวน 1,043 ล้านบาท (เป็นเงินนำส่งรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจากการจำหน่ายสลาก 1,030.40 ล้านบาท และเงินรางวัลค้างจ่ายสลากบำรุงการกุศล 12.60 ล้านบาท) (ประชาชาติธุรกิจ วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ.2552) ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าธุรกิจบาปสามารถทำเงินเข้ารัฐได้เป็นจำนวนมหาศาล และนี่คือภาพที่ประชาชนทั่วไปมองเห็น จนบางคนเกือบลืม..คิดถึงส่วนที่เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งธุรกิจลักษณะนี้ก็ได้สร้างและบ่มเพาะปัญหาทางสังคมหรือสุขภาพขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย มากไปกว่านั้นยิ่งหากจะขุดและเจาะลึกถึงปัญหาภายในองค์กรด้วยแล้วมันยิ่งเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ที่มีมูลค่าอีกเป็นจำนวนมาก ที่นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ (ทุกยุคทุกสมัย) สามารถแสวงหาผลประโยชน์ในธุรกิจบาปของรัฐที่ไม่มีใครสนใจนี้ได้อย่างแนบเนียน โดยสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนของคณะกรรมการบริหารจนถึงผู้ที่ต้องการผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีแรก เป็นกรณีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรื่องโควตาการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่ต้องการจำหน่ายสลาก (ซึ่งท้ายที่สุดก็ไปอยู่ที่รายใหญ่อยู่ดี) ปัญหาการขายสลากราคาแพง ปัญหาการออกสลาก 2 ตัว 3 ตัว ปัญหาการเมืองภายในองค์กร ตลอดจนการแทรกแซงทางการบริหารของนอมินีทางการเมือง ฯลฯ จนปัจจุบันหากจะจัดสรรแบ่งผลประโยชน์กันใหม่อย่างเป็นธรรมก็คงดำเนินการยาก เพราะรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว (ทั้งโควตาสลากกินแบ่งและผู้ที่จะค้าสลากชนิด 2 ตัว 3 ตัว) ส่วนการที่กองสลากจะสำรวจว่าใครขายจริงหรือไม่ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก (เพราะต้องใช้งบประมาณสูงและเมื่อสำรวจไปก็เจอผู้มีอิทธิพล) ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปการแก้ปัญหาในกรณีกองสลากนี้ ก็อาจสรุปได้ว่าผู้มีอำนาจจะเลือกไม่แก้ไขหรือแก้ไขให้ล่าช้าเพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ที่สำคัญกว่าก็คือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาก็จะได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งในทางทฤษฎีอาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายของการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption)

อีกกรณีก็น่าสนใจ กรณีนี้เกิดในธุรกิจยาสูบซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ในกรณีนี้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์แบบนิ่มๆ ดำเนินการกันมานาน มีการวางแผนกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการสมคบคิดกันระหว่างผู้เสนอผลประโยชน์และผู้บริหารองค์กร ทำกันตั้งแต่การชงเรื่อง ตั้งเรื่อง การเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจนถึงขั้นตอนของการอนุมัติ โดยมีอดีตผู้บริหารและเครือข่ายกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงเป็นผู้ร่วมดำเนินการ กับผู้ค้ารายหนึ่ง ซึ่งโดยรวมแล้วทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปกว่าพันล้านบาทต่อปี (รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการวางแผนการขจัดบุคคลผู้ขัดผลประโยชน์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือเพื่อกดดันผู้บริหารให้ลาออก จากกรณีการปรับโครงสร้าง การบริหารโรงงานยาสูบให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยแท้จริงมีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องของโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ส่วนเรื่องของการบริหารงานภายในองค์กร ก็เป็นปัญหาทางการเมืองตั้งแต่คณะกรรมการบริหารจนถึงตัวผู้บริหารบางฝ่ายงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลกลุ่มอำนาจเดิม ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดระหว่างบุหรี่ไทยกับบุหรี่ต่างประเทศไว้ได้ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้เสพมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อย และกลุ่มผู้ค้าระดับต่างๆ ก็มีความสามารถในการดำเนินการได้ (ถ้าได้รับความเป็นธรรมทางการค้าที่เสมอกันทุกราย ซึ่งผู้บริหารไม่มีการแก้ไขปัญหานี้มากว่า 2 ปีแล้ว)

ดังนั้น หากจะกล่าวถึงบทสรุปในกรณีปัญหาของโรงงานยาสูบแล้ว ก็สรุปได้เช่นเดียวกันว่าผู้มีอำนาจเลือกที่จะไม่แก้ไข ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพราะผู้เสนอผลประโยชน์ยินดีจ่ายเสมอไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลใด ส่วนผู้รับประโยชน์ก็ไม่ต้องทำอะไรเพราะระบบได้คอร์รัปชันไปแล้ว (อยู่เฉยก็ได้ประโยชน์) ที่สำคัญเอาไว้ขอการสนับสนุนเมื่อต้องการงบอำนวยการจากโรงงานยาสูบจะดีกว่า ซึ่งกรณีนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption) ด้วยเช่นกัน เห็นหรือยังครับว่า ธุรกิจบาปของรัฐเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ไม่เคยมีใครสนใจจริงๆ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ กรุงเทพธุรกิจ 14-09-52