วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พัฒนารัฐวิสาหกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

พัฒนาการของรัฐวิสาหกิจไทยมีมานานกว่า 40 ปี กล่าวคือรัฐบาลได้มีนโยบายการพัฒนารัฐวิสาหกิจไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ.2504-2509) และยังคงมีความพยายามในการพัฒนารัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในระยะแรกของการพัฒนารัฐวิสาหกิจรัฐบาลให้เอกชนเข้ามามีบทบาทค่อนข้างน้อยและรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดทรัพยากรและการบริหารจัดการเป็นส่วนใหญ่ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่เจ็ด (พ.ศ.2535-2539) รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยการร่วมทุนกับเอกชน การทำสัญญากับรัฐหรือการกระจายหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมดออกขายให้สาธารณชนในตลาดหลัก (ในสมัยนั้นทรัพย์หรือการตกลงขายหุ้นจะเป็นการขายให้กับพนักงานหรือเอกชน ไม่ได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์) เป็นต้น

ส่วนแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อๆ มา มีการพัฒนาไปในแนวที่ลดบทบาทของรัฐในการเป็นเจ้าของ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก โดยได้มีการกำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจไว้อย่างชัดเจนที่สุดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่เก้า (พ.ศ. 2545 - 2549) วิธีหนึ่งที่กำหนดให้ปฏิบัติคือ ให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นขั้นตอน โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม (ทั้งในด้านการปรับองค์กรและการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี และมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติโดยรวม

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า แม้หลายๆ รัฐบาลมีความพยายามในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ในหลายๆ รูปแบบ แต่อาจสรุปได้ว่าความพยายามในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาและพัฒนาการขององค์กรรัฐวิสาหกิจเองปัญหาก็คือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่การพัฒนารัฐวิสาหกิจในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ควรจะเป็น?

การพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ประสิทธิภาพในความหมายของการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีต้นทุนต่ำสุด คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจไม่จำเป็นต้องหมายความว่ารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ต้องขาดทุนเพราะรัฐบาลไม่ยอมให้กำหนดราคาที่คุ้มทุนได้ หรือ รัฐวิสาหกิจที่ได้กำไร ก็ใช่ว่าจะมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน เช่น รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นผู้ผูกขาดในตลาด) ในหลายๆ ประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ยูโกสลาเวีย และประเทศในแถบแอฟริกา ฯลฯ มีประสบการณ์บางด้านตรงกันที่พอสรุปได้ว่า ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ คือ

1. การที่รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ผูกขาด ไม่ต้องแข่งขัน จึงไม่สนใจปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และไม่มีแรงจูงใจให้ลดต้นทุนการผลิต

2. รัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐบาล ที่มักไม่มีระบบการกำกับตรวจสอบให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจจึงเหมือนกิจการที่ไร้เจ้าของที่แท้จริงผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงมักดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองมากกว่าประโยชน์ขององค์กรและสังคม

3. ระบบการบริหารงานและโครงสร้างองค์กรของรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นราชการมีขั้นตอนการตัดสินใจหลายระดับ ไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และที่สำคัญคือคณะกรรมการอำนวยการไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐวิสาหกิจ (สำหรับประเทศไทย พบว่าคณะกรรมการอำนวยการส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มธุรกิจการเมือง) หรือข้าราชการประจำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มักไม่มีเวลาให้กับงานของรัฐวิสาหกิจ

4. รัฐบาลมีความสับสนในวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ (อยากมีฐานะการเงินดี แต่บิดเบือนต้นทุนการดำเนินการ และใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือทางการเมือง) จนทำให้รัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพและขาดทุน

5. การต่อรองผลประโยชน์ของสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจ กับความอ่อนแอของฝ่ายการเมือง

และข้อสุดท้ายเป็นกรณีที่พบได้ในประเทศไทย คือ

6. ผลประโยชน์แอบแฝงจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ในรัฐวิสาหกิจ ทำให้นักธุรกิจการเมืองนิยมส่งคนของตนเข้าไปแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์ในธุรกิจที่ตนเอง ครอบครัว พวกพ้อง และคนใกล้ชิดเกี่ยวข้อง พวกเขามักให้ความสำคัญกับการส่งสมัครพรรคพวกเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่พวกเขาสามารถสั่งการได้ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายขององค์กร และประเทศชาติที่จะติดตามมา นี้จึงเป็นเหตุให้รัฐวิสาหกิจต้องประสบภาวการณ์ขาดทุน แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มธุรกิจการเมืองกลับมั่งคั่งขึ้น

จากประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องการพัฒนารัฐวิสาหกิจในหลายประเทศ ประกอบกับแนวคิด วิธี และหลักการของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยหลักการแล้วผมคิดว่าการพัฒนารัฐวิสาหกิจไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และแท้จริงแล้วการพัฒนารัฐวิสาหกิจสามารถมีได้หลายรูปหลายแบบ เช่น รูปแบบของสัญญาการบริหารจัดการ สัญญาเช่า สัมปทาน การร่วมทุน การกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การยุบเลิก และจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งเราอาจมองว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของรัฐที่ดีในด้านงบประมาณ การบริหารจัดการองค์กรรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ก็ได้

แต่ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่หัวใจของกระบวนการในการบริหาร โดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่มีการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการจัดโครงสร้างการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ จัดความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมการทำงานของทั้งสองฝ่ายได้ จัดวางระบบการควบคุมผลประโยชน์ส่วนตัวของฝ่ายกรรมการและฝ่ายบริหารอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบการทำงานที่มีธรรมาภิบาลสามารถทำงานได้อย่างแท้จริง เช่นนี้การพัฒนารัฐวิสาหกิจไทยจึงจะสามารถเดินหน้าได้

เผยแพร่ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ , วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธรรมาภิบาลภาคพลเมือง

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
โครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ความปรารถนาของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันคือ อยากเห็นสังคมที่ดี สังคมในอุดมคติ และสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประชาคมทั่วโลกต่างพยายามผลักดันการปกครองที่ดีของสังคมตัวเองที่เรียกกันว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance หรือ GG) ให้เกิดขึ้น


รวมทั้งยังร่วมกันผลักดันการบริหารขององค์กรธุรกิจให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าบรรษัทภิบาล (Corporate Governance หรือ CG) ซึ่งมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนภายนอกกิจการ ตลอดจนสังคมในภาพรวมและสังคมโลกมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของลูกค้า และผู้ถือหุ้นขององค์กรธุรกิจเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นภาคพลเมืองยังมีบทบาทอย่างสำคัญในการกดดันให้ภาคธุรกิจเอกชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) จนกระทั่งประมวลจริยธรรมของการทำธุรกิจกำลังกลายเป็นกติกาที่ธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติกัน

โดยทั่วไปแล้วในบรรดาความเจริญก้าวหน้าของธรรมาภิบาลในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคพลเมืองภาคที่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดในสังคมไทยในขณะนี้คือ ธรรมาภิบาลในภาคพลเมือง ในระยะหลังขบวนการของภาคพลเมืองมีความเข้มข้นและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ประเด็นที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องครอบคลุมปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน สิทธิของผู้บริโภค การมีส่วนร่วมทางการเมือง ปัญหาชนกลุ่มน้อย และปัญหาสถานภาพทางเพศ ฯลฯ การเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมข้างต้นถูกเรียกว่าเป็น "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New Social Movement : NSM)

ผู้เขียนคิดว่ากรอบของสังคมไทยในปัจจุบันกำลังกลายเป็นสนามผลประโยชน์ของการปะทะประสาน (Articulation) กันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคพลเมือง

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสองภาคแรกมีบทบัญญัติว่าด้วยธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเกิดขึ้นแล้ว ในส่วนภาคพลเมืองยังมีคำถามว่าควรมีธรรมาภิบาลด้วยหรือไม่ อย่างไร?

ถ้าควรมี ภาคพลเมืองควรจะมีองค์ประกอบทางด้านธรรมาภิบาลอย่างไร?

ธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 5 หลักการ คือ
(1) หลักการมีส่วนร่วม
(2) หลักนิติธรรม
(3) หลักความรับผิดรับชอบ
(4) หลักความโปร่งใส
และ (5) หลักของการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในภาครัฐส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปยัง "หลักนิติธรรม" เป็นเบื้องต้น แล้วจึงเกี่ยวข้องไปยังหลักการอื่นๆ ทั้งนี้ เพราะรัฐจำเป็นต้องมีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต้องการของสาธารณชนที่ตั้งคำถามต่อการจัดการปกครองที่ยึดตามตัวบทและตามกรอบกติกาเดิมๆ (Rule by Law)

รวมทั้งจะต้องดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้มีความเท่าเทียมกัน ตลอดจนกระทั่งต้องขยายความไปยังส่วนที่เป็นนิติธรรม (Rule of Law) ที่เป็นต้นธารของการจัดการปกครองของรัฐอีกด้วย

ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนที่กำลังเติบโตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดธุรกิจขนาดยักษ์ที่เรียกว่าบรรษัทข้ามชาติ ธุรกิจประเภทนี้สามารถมีรายได้หรือสินทรัพย์มากยิ่งกว่าภาครัฐในบางประเทศด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น บริษัทไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ และเนสท์เล่ ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนหลายร้อยล้านคน และมีความผูกพันกับผู้คนมากยิ่งกว่ารัฐขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากในโลกเสียอีก

ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัท สุเอซ บริษัทในสัญชาติฝรั่งเศสที่ต่อมากระทรวงการคลังฝรั่งเศสเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า ที่มีประชากรในโลกนี้ใช้บริการอยู่มากกว่า 120 ล้านคน

คุณลักษณะของธุรกิจข้างต้นที่มุ่งเน้น CG และ CSR ในขณะนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งกว่าผู้ถือหุ้น (Shareholder) และมีผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) แบบเดิม

เพราะเหตุว่า GG ที่เกิดขึ้นในภาครัฐและ CG/CSR ในภาคเอกชน ไม่ได้เกิดจากการสรุปบทเรียนหรือประสบการณ์โดยตนเอง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารภายในขององค์กรเป็นด้านหลัก แต่เป็นผลมาจากกระแสกดดันจากปัจจัยภายนอกขององค์กรมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการชุมนุมประท้วงการจัดประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ของภาคพลเมืองที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1998

เพราะฉะนั้นภาคพลเมือง จึงเป็นภาคที่นับวันจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและกฎกติกาของภาครัฐและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับสังคมไทยในช่วง 4-5 ปี มานี้ มีกลุ่มและขบวนการต่างๆ ที่ขัดแย้ง และเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง จนกลายเป็นวิกฤติทั่วทั้งสังคมไทย รวมทั้งยังมีม็อบต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องกดดันรัฐและภาคเอกชนอยู่ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ จึงใคร่ขอเสนอหลักการเพื่อใช้ในการพิจารณาและวินิจฉัยประเด็นความเหมาะสมของกลุ่มเคลื่อนไหวที่มักเรียกตัวเองว่า "ภาคพลเมือง" ว่าเป็นของจริงหรือของเทียมกันแน่ ดังต่อไปนี้คือ

ประการแรก ประเด็นที่นำเสนอของภาคพลเมือง ควรเป็นผลรวมจากความเดือดร้อนของสังคมโดยรวม ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ซึ่งไม่ควรจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งหลักการข้อนี้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมในเรื่อง GG และ CG

ประการที่สอง การกระตุ้นหรือการกระตุกวิธีคิดของผู้คนในสังคม การทวงถาม การเรียกร้องการนำเสนอ การขัดขวาง การขัดขืน หรือการก่อการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นของภาคพลเมือง ควรเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย กติกาทางสังคมและได้รับการยอมรับจากประชาชนที่เป็นสุจริตชนส่วนใหญ่ ข้อเรียกร้องควรมีความชอบธรรม (Legitimacy) และมีหลักการที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมของ GG และ CG ด้วย

ประการที่สาม การฝืนกฎกติกาทางสังคม หรืออารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ตามแนวทางการต่อสู้ของหญิงผิวดำที่ไม่ยอมสละที่นั่งของตนในรถโดยสารให้กับคนผิวขาว หรือการนำพาประชาชนอินเดียเรียกร้องเพื่อเอกราชของอินเดียของมหาตมะ คานธี นั้น ภาคพลเมืองควรมีความรับผิดชอบ ในผลพวงที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านบวกและด้านลบที่จะมีต่อสังคมโดยรวม ซึ่งหลักการข้อนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับหลักความรับผิดชอบในเรื่องของ GG และ CG

ประการที่สี่ ในสถานการณ์ที่ภาคพลเมืองมีการเคลื่อนไหวที่เข้มข้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ภาคพลเมืองควรยอมรับเรื่องที่ภาคส่วนหนึ่งจะแยกตัวออกจากส่วนที่เป็นส่วนรวมหรือส่วนทั้งหมด พร้อมไปกับการยอมรับการตรวจสอบจากส่วนรวมที่เป็นสาธารณะ ภาครัฐและภาคของเอกชนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นหลักการที่ไปในทิศทางเดียวกันกับหลักความโปร่งใสของ GG และ CG

ประการที่ห้า ในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรในภาครัฐ และภาคเอกชนภาคพลเมืองควรคำนึงถึงผลลัพธ์จากการเรียกร้อง และการเคลื่อนไหวที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เพื่อเป็นการสร้างดุลยภาพใหม่ของสังคมจากการปะทะประสานกันในพื้นที่ใหม่ของสาธารณะ

หลักทั้งห้าประการข้างต้น น่าจะช่วยทำให้เราสามารถพิเคราะห์การแสดงออกของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในระหว่างปี พ.ศ.2548-2551 กับ "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) " ที่ถูกสื่อลดสถานะลงเหลือเพียงเป็น "กลุ่มคนเสื้อแดง" ว่าภาคพลเมืองกลุ่มไหนที่มีธรรมาภิบาลในการเคลื่อนไหวกันแน่

ซึ่งรวมทั้งม็อบต่างๆ ที่อ้างปัญหาของตัวเอง แต่กลับใช้ความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาล

เผยแพร่ครั้งแรก มติชน , 15 ก.พ. 52

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เกิดอะไรขึ้นที่การบินไทย ?

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์

ในรอบเดือนมกราคมที่ผ่านมา ข่าวที่ช็อกความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศมากที่สุดชิ้นหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทการบินไทย ที่ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร บอร์ดการบินไทยในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเชิงรุก ได้เปิดเผยตัวเลขและแผนการฟื้นฟูกิจการว่าการบินไทยขาดสภาพคล่องเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่มากถึง 7 หมื่นล้านบาท และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งรัดการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยการพึ่งตนเอง หลังจากที่ถูก นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ปฏิเสธแนวทางแก้ไขปัญหา ที่จะให้กระทรวงการคลังไปค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่กับสถาบันการเงิน

ผลที่ติดตามมาก็คือ “คณะทำงานฟื้นฟูธุรกิจการบินและพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ” ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน หันไปหาแนวคิดที่จะแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อลดภาระการกู้เงิน เพื่อนำเงินสดเข้าแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียน พร้อมกับระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ตลอดจนอดีตผู้บริหารการบินไทยเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย รวมทั้งยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยดำเนินการอีกสองบริษัท คือ 1. บริษัท LEK Consult ซึ่งเคยแก้ไขปัญหาธุรกิจการบินและบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ , นอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ , ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ โดยจะทำหน้าที่จัดทำแผนธุรกิจโครงสร้าง และการบริหารจัดการทั้งระบบ และ 2. บริษัท Advantgarde เป็นที่ปรึกษาดูแลแผนการเงิน

แผนงานที่อยู่ในระหว่างการเร่งจัดการ มีทั้งการแยกหน่วยธุรกิจออกไป เช่น ครัวการบิน คาร์โก การบริหารภาคพื้นดิน การซ่อมบำรุง การปรับปรุงระบบการจองตั๋ว /เอเยนต์ การปรับลดเส้นทางการบิน ตลอดจนการลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ดและพนักงานการบินไทย ฯลฯ

หากเป็นสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าคงจะกลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างคุณพิชัยกับใครบางคนหรือบางกลุ่มในการบินไทยเป็นแน่ ในถ้อยแถลงของคุณพิชัยที่ว่า “...ขณะนี้ทุกฝ่ายหันหน้ามาช่วยกันแก้ปัญหาและพยายามให้ข้อเสนอที่จะเสียสละร่วมกัน เพื่อให้องค์กรอยู่ได้จากที่เคยหันหลังให้กัน...” ยิ่งเป็นการยืนยันเรื่องประสิทธิภาพ ความร่วมมือกัน ก็ต้องรอให้เกิดเป็นปัญหาถึงขั้นขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้านเสียก่อน

ปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น สะท้อนให้เห็นอะไรในการบินไทย ? ความอ่อนแอของการบินไทยเกิดขึ้น เพราะขีดความสามารถที่อ่อนด้อยในการแข่งขันกับสากลและโลกาภิวัฒน์ หรือเป็นเพราะการแทรกแซงจาก “กลุ่มธุรกิจการเมือง” ที่ขย่มการบินไทยมาตลอด แม้จะเป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจต้นแบบของกระทรวงการคลัง ก็ไม่อาจจะหลุดรอดจากเงื้อมมือของบรรดา “กลุ่มธุรกิจการเมืองหรือระบบทุนนิยมพวกพ้อง” ที่ว่านี้ไปได้ หรือว่าปัญหาของการบินไทยเกิดขึ้นจากทั้งสองแรงบวกเข้าด้วยกัน ?

ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ – ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เป็นธุรกิจระหว่างประเทศที่มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการที่ไม่อาจกำหนดได้ เพราะธุรกิจนี้เป็นเรื่องของระดับโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสายการบินจะต้องแย่ลงไปหมด เพราะเป็นกิจการระดับนานาชาติ ตรงกันข้ามหลายสายการบินนับวันกลับโตขึ้นๆ เช่น สิงคโปร์ แอร์ไลน์ คู่แข่งที่เคยตีคู่กับการบินไทยมา เพราะฉะนั้นความเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและเป็นกิจการนานาชาติ จึงไม่ใช่เงื่อนไขเสมอไปที่จะนำไปสู่ปัญหาเช่นที่การบินไทยประสบอยู่ในขณะนี้

เมื่อกลับไปอ่านแผนฟื้นฟูกิจการเชิงรุก ที่คุณพิชัย เป็นประธานคณะทำงานอยู่ก็จะพบว่า เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารภายในองค์กรเป็นเรื่องหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแยกหน่วยธุรกิจ การปรับปรุงระบบการจองตั๋ว /เอเย่นต์ การพิจารณาปรับลดเส้นทางการบิน ตลอดจนความร่วมมือในการลดสิทธิประโยชน์ของบอร์ด และพนักงานการบินไทย ประเด็นก็คือว่า สิ่งเหล่านี้ทำไมในยามปกติจึงไม่อาจกระทำได้เลย หากประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ทำไมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขององค์กร จึงไม่เข้มงวดกวดขันการบริหารกิจการให้เป็นไปตามครรลอง?

มีบางประเด็นที่สื่อมวลชนตั้งเป็นข้อสังเกตถึงที่มาของปัญหา คือ การซื้อเครื่องบิน การซื้อน้ำมันล่วงหน้าในราคาสูง เนื่องจากเกิดความตระหนักในภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางปี 2551 หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในบางเรื่องของลูกเรือ ฯลฯ รายงานข่าวของสื่อมวลชนบางสำนักให้น้ำหนักไปยังประเด็นทางการเมืองเจือปนไปกับปัญหาทางการเงินคราวนี้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง หรือการบริหารองค์กรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่พึงระวังได้ กำกับได้ แก้ไขปรับปรุงได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การคิดที่แข่งขันกับคนอื่นรอบข้างในธุรกิจเดียวกันได้ เหตุเกิดที่การบินไทย หากจะแก้ไขได้อย่างมีพลัง คนการบินไทยทุกระดับจะต้องใส่ใจในหลักธรรมาภิบาล ต้องรีบจัดการตัวเอง

ไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญหาในลำดับต่อไปที่การบินไทยจะต้องประสบก็คือ การตรวจสอบและการสร้างเงื่อนไขธรรมาภิบาลจากภาคพลเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เผยแพร่ครั้งแรก โพสต์ทูเดย์ , 12 ก.พ. 52