วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

การขายสมบัติชาติ

โดย ทวีศักดิ์ รักยิ่ง
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

จากการที่ผมได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทย ซึ่งมีพัฒนาการตั้งแต่การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจของไทย เมื่อ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีรัฐวิสาหกิจจำนวน 100 กว่าแห่ง ปัจจุบันเหลืออยู่ 58 แห่ง นโยบายของรัฐบาลแต่ละสมัย พร้อมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่แผนที่ 1 พ.ศ.2504-2509 ถึงปัจจุบัน ก็ต้องการที่จะส่งเสริมรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารแบบเอกชนเพิ่มขึ้นโดยการจ้างเอกชนดำเนินการบ้าง ให้สัมปทานบ้าง หรือแม้กระทั่งการแปรรูปให้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กำหนดให้ไทยดำเนินการ



เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศของเราได้เลือกระบบเศรษฐกิจของประเทศแบบระบบตลาดเสรี และประเทศได้อยู่ในระบบนี้มานานพอสมควรแล้ว ทำให้เราต้องปรับตัวไปกับระบบนี้ของกระแสการเปลี่ยนแปลงแข่งขันของโลกอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากย่อมจะมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างสร้างวาทกรรมขึ้นมารองรับความคิดเห็นของฝ่ายตนเอง ดังเช่นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายต่อต้านจะสร้างวาทกรรมว่าเป็นการขายสมบัติชาติ ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยก็ได้สร้างวาทกรรมว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งสองฝ่ายมองจากเหตุการณ์ที่ประสบในปัจจุบันในภาพกว้างที่ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลจากสื่อได้ แต่ไม่ได้มองลงไปในรายละเอียดและไม่ได้มองลงไปในการแก้ไขปัญหา



วันนี้ผมจะพูดถึงวาทกรรม : การขายสมบัติของชาติถ้าเรามองกันว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายสมบัติชาตินั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการให้เอกชนต่างชาติเข้ามาขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หรือการให้เอกชนได้รับสัมปทานภูเขาทั้งลูกระเบิดไปทำหิน ทำปูนซึ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นการขายสมบัติชาติมากกว่าหรือไม่ ทั้งๆที่ดำเนินการโดยเอกชนได้รับประโยชน์ไปเต็ม 100%



ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น รัฐเองยังเป็นเจ้าของส่วนใหญ่มากกว่า 50% อยู่ รัฐถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม บางแห่งมากกว่า 80% ด้วยซ้ำผลประโยชน์ที่ได้ก็ตกอยู่กับรัฐเป็นส่วนใหญ่และถ้ามองอีกมุมหนึ่งเมื่อมีการแปรรูปแล้วกิจการดำเนินการได้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น อย่างเช่นปตท. นอกจากสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศแล้ว โดยได้มีการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลดำเนินงานก็ก้าวกระโดดขึ้นจากเดิมมีทรัพย์สินเพียง 2 แสนล้านบาท และเงินนำส่งรัฐปีละ 1 หมื่นล้านบาทก่อนการแปรรูปปัจจุบันมีทรัพย์สินประมาณ 9 แสนล้านบาทและเงินนำส่งรัฐประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาทประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นนี้กลับเข้าสู่รัฐเป็นส่วนใหญ่ทั้งรายได้และมูลค่าทรัพย์สินของรัฐที่เพิ่มขึ้นนี่น่าจะเป็นการทำประโยชน์ให้แก่สมบัติของชาติมากกว่าหรือไม่



อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากให้มองกันให้มากขึ้น คือการคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ ถ้าเปรียบเทียบกันว่าแปรรูปเป็นการขายสมบัติชาติแต่การดำเนินการปัจจุบันที่มีการคอร์รัปชันกันถือว่าเป็นการโกงชาติหรือไม่ งบประมาณการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เราสูญเสียไปเท่าใดจากการคอร์รัปชันทั้งในระดับการเมือง กรรมการ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งระดับพนักงานที่ทำงานกันแบบเช้าชามเย็นชามทำงานปกติไม่เต็มเวลา และมีการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลากัน เหล่านี้ก็ถือเป็นการคอร์รัปชันเช่นกันต่างคนต่างเอาประโยชน์จากองค์กร ไม่มีใครมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง กระบวนการตรวจสอบของเราเป็นระบบตั้งรับ เข้าไปได้ไม่ถึงทุกกระบวนการ รัฐวิสาหกิจจะถูกตรวจสอบเพียงจากกระทรวงสังกัด รวมถึงกระทรวงการคลังที่กำกับดูแล และ สตง.เท่านั้น



แต่เมื่อรัฐวิสาหกิจแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากการตรวจสอบดังกล่าวมาแล้วยังถูกตรวจสอบเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์ฯ, นักวิเคราะห์หลักทรัพย์, องค์กรRating ทั้งในและต่างประเทศ, สมาคมนักลงทุนไทย รวมถึงที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ถือหุ้นทั้งไทยและต่างประเทศที่มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยผลดำเนินงานที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เราเห็นกันเมื่อปีที่แล้วที่ อสมท นักการเมืองต้องการเปลี่ยน Board เพื่อวัตถุประสงค์ไม่ดีต่อองค์กรแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ยอม ช่วยกันคัดค้านในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทำให้การเปลี่ยน Board ครั้งนั้นไม่สามารถทำได้สำเร็จ



นอกจากนั้น ถ้าเรามองในเชิงโอกาส การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันทั้งหมด กว่า7 ล้านล้านบาท การเสียหายจากการขาดประสิทธิภาพน่าจะมีจำนวนมาก แต่บางแห่งมักจะอ้างว่าเป็นการบริการสังคมทำให้ขาดทุนเราควรจะมีการศึกษากันอย่างจริงจังในรัฐวิสาหกิจทุกแห่งว่าเป็นการขาดทุนจากการบริการสังคมเท่าใด และขาดทุนจากการบริหารจัดการเท่าใด นำมาเปิดเผยต่อสังคมให้รับทราบแต่ถ้ารัฐวิสาหกิจนั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องรายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบผลการดำเนินงานโดยละเอียด ถ้าเราลองเปรียบเทียบง่ายๆ เช่นบริษัททีโอทีของไทยกับเทเลคอมมาเลเซีย ของเขามีผลตอบแทนต่อทรัพย์สินสูงกว่าของเราถึง 2 เท่า บริษัท กสทโทรคมนาคมของเราเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ผลตอบแทนต่อทรัพย์สินของสิงคโปร์ก็สูงกว่าเราเช่นกัน และถ้าเราลองมองลงลึกไปอีกขั้น รัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการจัดตั้งบริษัทลูกและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ปตท.แม้กระทั่งการประปา จะเห็นว่าบริษัทลูกเหล่านั้นไม่ก่อปัญหาทางด้านการเงินให้แก่ภาครัฐและมีผลการดำเนินงานที่ดี



ผมคิดว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องในประเทศของเราควรที่จะมานั่งคุยกันในการแก้ปัญหามากกว่าคิดจะต่อต้านแล้วสร้างวาทกรรมการขายสมบัติชาติมาสนับสนุน จะเกิดคุณูปการต่อประเทศมากกว่า หรือจะปล่อยให้โกงชาติต่อไปสิ่งใดที่ทำไปแล้วไม่ดี บกพร่องก็สร้างกติกาใหม่หรือสิ่งใดลืมพิจารณาไปก็ควรนำมาพิจารณาไว้ดังเช่นเหตุการณ์ปัจจุบันที่การบินไทย กรรมการของบริษัทมีการขนกระเป๋า 40 ใบ โดยไม่ผ่านกระบวนการศุลกากร โดยใช้อำนาจของกรรมการการกระทำการดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเราควรช่วยกันหาทางป้องกันร่วมกัน



อย่าลืมว่าประโยชน์ของการแปรรูปไปเป็นเอกชนอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือหยุดการโกงเพราะนั่นคือโรคที่กำลังรุมเร้าประเทศไทยอย่างรุนแรง คือการคอร์รัปชัน ต้องหยุดให้ได้ถ้าหยุดได้ประเทศไทยไปรอด อย่างอื่นค่อยมาแก้ทีหลัง



ที่มา: ASTVผู้จัดการรายวัน 26-01-2553

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

แผนยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริต

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาดังกล่าวได้เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของโลกไปแล้ว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาความยากจน หรือปัญหาโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่

แต่เดิมนั้น ปัญหาการทุจริตมักจะจุกตัวอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในระบบข้าราชการ ตัวอย่างเช่น การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือค่าอำนวยความสะดวกสำหรับการติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ และอาจรวมถึงค่าเปอร์เซ็นต์จากเงินงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง หรือพัฒนาในโครงการต่างๆ เป็นต้น การทุจริตแบบนี้ถือเป็นการทุจริตแบบเก่าที่ดำรงอยู่คู่สังคมมานาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการทุจริตแบบนี้ก็มีพื้นที่จำกัดลง เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

การพัฒนาที่ผ่านมา ในหลายๆ ประเทศไร้ความสมดุล และผลอันเกิดจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ผูกโยงเข้าด้วยกันมากขึ้น กลไกราคาหรือกลไกตลาดถูกมองว่าเป็นเครื่องมือจัดสรรทรัพยากร ที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากลไกของรัฐ ทำให้องค์กรธุรกิจเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมแทนกลไกภาครัฐที่มีข้อจำกัดในการให้ บริการ ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายขององค์กรธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุดจากการดำเนินงาน ดังนั้นไม่ว่าจะทำโดยวิธีไหนก็ตาม เพื่อทำให้ธุรกิจมีกำไรสูงสุดก็มักจะทำ หลายบริษัทไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กลไกการตรวจสอบก็น้อยลง หลายบริษัทก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แน่นอนว่า กลไกการตรวจสอบการทำงานของบริษัทก็จะมีเพิ่มขึ้น แต่มีหลายกรณีที่พบว่า แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ตาม ยังมีเจตนาทุจริตอยู่ดี อาทิเช่น การตกแต่งบัญชีเพื่อให้งบการเงินดูดี หรือการสร้างลูกค้าเทียมให้ดูว่าบริษัทมีธุรกรรมจำนวนมาก หรือการจ่ายสินบนให้นักการเมือง หรือข้าราชการ เพื่อให้ได้งานหรือโครงการต่างๆ ของรัฐ ดังนั้น แนวโน้มของการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชนในระยะหลังๆ จึงมีเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ของการทุจริตไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในภาครัฐดังเช่นในอดีตแล้ว แต่การทุจริตได้ไหลบ่ามายังภาคธุรกิจเอกชนแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จึงได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร แสวงหาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิเช่น กรอบขององค์การสหประชาชาติ ของธนาคารโลก ของกลุ่มประเทศโออีซีดี หรือของธนาคารพัฒนาตามภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น ผลักดันกฎระเบียบเพื่อการควบคุมการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน อย่างเช่น อนุสัญญาว่าด้วยความร่วมการต่อต้านการทุจริตของ UN หรือข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐ (GPA) ของประเทศต่างๆ รวมถึงการรณรงค์ให้นำหลักธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาลไปใช้ในการปกครองและบริหารองค์กรมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าการดำเนินการภายใต้กรอบต่างๆ เหล่านี้ ได้มีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิกบางระดับแล้ว ผลปรากฏว่า ปัญหาการทุจริตในประเทศต่างๆ ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย ปัญหาการทุจริตมีความรุนแรงและซับซ้อนมาก ความรุนแรงของปัญหาสะท้อนในเชิงปริมาณจากดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของประเทศ ที่จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศที่จัดทำในแต่ละปี จากข้อมูลได้ชี้ว่าในช่วง 8 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2544-2551 ประเทศไทยมีดัชนีความโปร่งใสเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.0 โดยอยู่ในอันดับที่ 70 ในปี 2546 และอันดับที่ 80 ในปี 2551 ในขณะที่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตของ ป.ป.ช.กำหนดไว้ว่าภายในปี 2555 ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทย จะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับประเทศมาเลเซียและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน จึงนับเป็นการท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทย และประชาชนคนไทยทุกคนต่อภารกิจสำคัญอันนี้

อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงคุณภาพแล้ว ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปและมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทุจริตในปัจจุบัน จึงยากแก่การทำความเข้าใจของสังคม อาทิเช่น คำว่า การทุจริตเชิงนโยบาย การมีผลประโยชน์ทับซ้อน และการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการทุจริตเหล่านี้เป็นรูปแบบการทุจริตที่ร่วมสมัย ด้านหนึ่งเป็นการดำรงอยู่ของการทุจริตแบบเก่า แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการขยายตัวขององคาพยพด้านการทุจริตแบบใหม่ที่มาพร้อมกับ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในขณะที่สังคมไทยไม่ได้ตอบสนองกับปัญหาเหล่านี้ มากนัก เนื่องจาก ประการแรก สังคมไทยขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทุจริต รัฐบาลเองก็ขาดการเอาใจใส่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ประการที่สอง การทุจริตในสังคมไทยและเอเชียมีพื้นฐานมาจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง กัน เพราะเกิดจากระบบพวกพ้อง (Cronyism) ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิชาการได้ให้ความสนใจมากขึ้นในการนำมาวิเคราะห์แง่ มุมของการทุจริต อาทิเช่น ในงาน ฮัน (Han : 1998) หรือของกัทรี จอห์นสัน และอเมด (Khatri,Johnson and Ahmed : 2003) เป็นต้น ประการที่สาม พื้นที่ของการทุจริตและคนทำการทุจริตมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนสังคมไทยในปัจจุบันไม่อาจจะแยกแยะได้ว่าใครคือพระเอกและใครเป็นผู้ร้าย หรือทั้งพระเอกและผู้ร้ายก็ทุจริตเหมือนกัน และประการสุดท้าย ผลพวงจากสามประการที่กล่าวมา ได้ส่งผลทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยทำได้ยากยิ่ง

ดังนั้น ภาครัฐ สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องแสวงหามุมมองใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มองจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ให้มากที่สุดในการกำหนดยุทธศาสตร์ โดยอาจจะมองมิติทางสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น (Cultural Approach) มองมิติทางเศรษฐกิจ (Economic Approach) และมองมิติทางสถาบัน (Institutional Approach) ด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตมีความรัดกุมรอบด้านมากขึ้น



ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 18-01-2553

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

ความล้มเหลวในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของรัฐไทย

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ประเทศไทย เริ่มมีการจัดระบบแรงงานต่างด้าวและเปิดให้ขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบัน การดำเนินการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจะใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นเครื่องมือ ดำเนินการเชิงนโยบาย เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมั่นคงต่อรัฐและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

แม้ว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มขึ้นตามอุป สงค์ของผู้ประกอบการและศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะช่วง หลังปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้คนไทยมีโอกาสในการเลือกทำงานมากขึ้น มีทางเลือกในการบริโภคสินค้า รวมทั้งการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในสาขา ธุรกิจก่อสร้าง และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ประกอบการไทยในธุรกิจสาขาดังกล่าว มีอุปสงค์ต่อแรงงานสูง แต่ขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะคนงานไทย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชา มีแรงงานจำนวนมากที่ยากจน และต้องการหางานทำ

ผู้ประกอบการไทยได้ร้องขอต่อรัฐบาลเพื่อขอ อนุญาตนำแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในสาขาดังกล่าวแทนคน งานไทย โดยในระยะแรกของการดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนยังขาดทิศทางไร้ระบบควบคุมดูแลและยังขาดการบูรณาการในการ ทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจึงมีผลกระทบตามมาหลายด้าน อาทิ การนำพาเชื้อโรค การเกิดโรคใหม่ๆ ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม การก่อการร้าย การคอร์รัปชัน และความขัดแย้งในสังคม ฯลฯ

จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน พบว่าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วประเทศตามพระราชบัญญัติคน เข้าเมือง พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติคนต่างด้าว พ.ศ.2551 จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2551 มีจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 790,664 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย (ตามมาตรา 9 และ มาตรา 12) มี 228,353 คน คิดเป็นร้อยละ 28.9 และแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย (ตามมาตรา 13) มี 562,311 คน คิดเป็นร้อยละ 71.1 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดทั่วประเทศ จากสัดส่วนดังกล่าวจะเห็นว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมีจำนวนที่ มากว่าถูกกฎหมายอยู่ 333,958 คน

ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 13 แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทชนกลุ่มน้อย กับประเภทตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตทำงานได้จนถึงปีวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 562,311 คน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 34,302 คน จำแนกเป็นชนกลุ่มน้อย 60,741 คน และตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา 501,570 คน คิดเป็นร้อยละ 89.2 ของคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ประเภทตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สัญชาติ ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามสถานประกอบกิจการต่างๆ 154,304 แห่ง โดยประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานมาก 5 ลำดับแรก ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ 92,200 คน ก่อสร้าง 76,206 คน ประมงทะเลต่อเนื่อง 58,890 คน ผู้รับใช้ในบ้าน 53,933 คน และประมง 9,836 คน เมื่อแยกตามสัญชาติเป็น สัญชาติพม่า 476,676 คน หรือร้อยละ 95.0 สัญชาติลาว 12,800 คน หรือร้อยละ 2.6 และสัญชาติกัมพูชา 12,094 คนหรือร้อยละ 2.4 โดยจังหวัดที่มีแรงงานกลุ่มนี้ทำงานมาก 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 83,337 คน สมุทรสาคร 76,059 คน เชียงใหม่ 39,213 คน สุราษฎร์ธานี 30,123 คน และภูเก็ต 29,431 คนตามลำดับ

จะเห็นว่าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ อพยพเข้ามาและทำงานในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากประเมินของนักวิชาการและหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลได้ชี้ ว่า มีจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน โดยมีสาเหตุหลักมาจากช่องว่างของรายได้ที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศเพื่อนบ้าน ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และการพัฒนาของระบบการขนส่งที่เชื่อมระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานนอกระบบ ขณะที่นโยบายในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยยังคลุมเครือ และไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้อยู่ในสถานะของแรงงานที่ผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสังคมไทย หากภาครัฐยังขาดการบริหารจัดการที่ดีต่อปัญหาเรื่องนี้

ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ได้เป็นปัญหาแต่ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองเท่านั้น ปัญหาด้านสาธารณสุขก็เป็นปัญหาสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาด้านอื่น ดังนั้น เมื่อลองหลับตานึกไปถึงปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ถูกรวมเข้าเป็นประชาคมอาเซียนประเทศอื่นแล้ว ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะมีความยุ่งยากซับซ้อนขนาดไหน รัฐไทยควรต้องรีบเร่งหามาตรการดำเนินการ และแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ดีมีประสิทธิภาพไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อรองรับกับสภาพเขตแดนถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายหลายประเทศ แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งมีความรุนแรงและยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาการค้ามนุษย์ หรือปัญหาด้านสาธารณสุขที่มากับแรงงานอพยพตามมาอีกด้วย



ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ธรรมเนียมนิยม ล็อบบี้ กับการซื้อ-ขายตำแหน่ง

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


บนเงื่อนไขของสังคมแบบอุปถัมภ์ (patronage) ธรรมเนียมนิยมแบบไทยๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปี มักมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีของสังคมไทย คือ การเข้าไปกราบไหว้ขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือ เข้าไปเยี่ยมหาถามไถ่ทุกข์-สุขของบุคคลที่มีความเคารพต่อกัน วัตรปฏิบัติเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และสมควรที่จะสืบสานให้มีกันต่อไปในระบบสังคม อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่ธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นสิ่งที่ดีงามอยู่แล้วในระบบ ได้ถูกบิดเบือนจากคนบางกลุ่มพวก โดยการใช้วัตรปฏิบัตินี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝง (ทั้งในเชิงพฤติกรรมและในเชิงวัตถุ) สร้างเงื่อนไข และใช้วาทกรรมนี้เป็นยุทธวิธี (tactics) ในการที่ทำให้ตนได้มาซึ่งผลประโยชน์ บนความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนทั้งในแนวดิ่งหรือแนวราบ


ซึ่งมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขของการ บิดเบือนมาจากปรากฏการณ์ของสังคมที่ว่า ในสังคมพหุนิยมที่มีบุคคล/กลุ่มบุคคลหลากหลายที่ต่างต้องทำการแข่งขันต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ตนต้องการ (ทั้งที่อยู่ในรูปของการมีอำนาจหรือเงินตราก็ตาม) โดยทั่วไปแล้วมักจะมีการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนดัง กล่าว บุคคลอาจสามารถทำได้สำเร็จ ในขณะที่บางกลุ่มอาจพบแต่ความล้มเหลว ซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวที่ได้มานี้ หากมองแบบกว้างๆ อาจมองได้ว่ามาจากกระบวนการทำงานของบุคคล ที่ลงทุนลงแรง ทุ่มเท และตั้งใจลงมือทำงานด้วยความสามารถ แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า การได้มาซึ่งความสำเร็จไม่ได้มาด้วยความอดทนทำงานอย่างเดียว แต่หากต้องใช้กระบวนการหรือยุทธวิธี ที่เรียกว่า "การล็อบบี้" (LOBBY) มาเป็นส่วนประกอบ จึงจะทำให้สามารถบรรลุผลประโยชน์ของตนได้อย่างรวดเร็วขึ้น


ในทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกวิธี การนี้ว่าเป็นรูปแบบของ "การแสวงหาค่าเช่า" (rent seeking) ซึ่ง Mushtaq H. Khan หมายถึง การกระทำที่จะพยายามจะสร้าง รักษา หรือแลกเปลี่ยนสิทธิและสถาบันอันเป็นรากฐานของค่าเช่าแต่ละประเภท โดยวิธีการทั้งที่ผิดกฎหมาย อาทิเช่น การให้สินบน และการบีบบังคับด้วยกำลัง และวิธีการที่ถูกกฎหมาย อาทิเช่น การวิ่งเต้น การให้ของกำนัลที่มีมูลค่า เป็นต้น ทั้งนี้ สอดคล้องกับวิธีการดำเนินการทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งมักมียุทธวิธี (tactics) ดังนี้ คือ


1. การล็อบบี้โดยตรง (Direct lobbying techniques) ซึ่งมักใช้วิธีการดังนี้ คือ การคอยทำการพบปะกันเป็นส่วนตัว (Making Personal Contacts) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การทำตัวให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน การพยายามชักจูงหว่านล้อม เพื่อให้ทำตามที่ตนต้องการ การจ่ายผลประโยชน์ในรูปเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่มีคุณค่าต่อผู้รับ


2. การล็อบบี้ทางอ้อม (Indirect lobbying techniques) ซึ่งมักใช้วิธีการดังนี้ คือ การระดมมวลชน การสร้างหรือก่อมติมหาชน หรือการสร้างพันธมิตรหรือแนวร่วม เป็นต้น


ดังนี้แล้ว การบิดเบือนปรากฏการณ์ของสังคมอันดีงาม ให้กลายเป็นประโยชน์ส่วนตัวด้วยการสร้างเงื่อนไขของผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ ตนต้องการ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการต่อรองและแสวงหาผลประโยชน์เชิงแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบของการตรวจสำรวจความภักดี/บารมีทางการเมืองว่ายังคงเป็นผู้ทรง อิทธิพลอยู่หรือไม่ หรือการส่งมอบ-รับของกำนัลจากส่วยประจำปีที่แนบเนียนของบางองค์กร รวมถึงการเช็คชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องให้การสนับสนุนหรือเสนอตัว เพื่อรับการสนับสนุนในอนาคต (รายงานตัวเพื่อวิ่งเต้นเอาตำแหน่ง) ซึ่งทั้งหมดนี้ หากมองแบบผู้มองโลกในแง่ร้าย ก็คือ การใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อประโยชน์ส่วนตนนั่นเอง ซึ่งเทคนิคนี้ทราบมาว่าใช้กันมากที่สุดในตอนปลายปีโดยเฉพาะวงการราชการ เพราะเป็นทั้งโอกาสของการแสดงความขอบคุณ (หลังเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในปีงบประมาณ) และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว (Personal Contacts) อันหมายถึงโอกาสในตำแหน่งหน้าที่ในปีต่อไป ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ปัจจุบันกลายเป็นต้นเหตุที่สำคัญของการคอร์รัปชันในระบบ ราชการไทยโดยเฉพาะประเด็นของการคอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งในระบบไปแล้ว


อย่างไรก็ตาม เราอาจสบายใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะผู้เขียนได้ทราบมา ว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการพิจารณาในเรื่องของการคอร์รัปชันในการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ ทั้งระบบโดยเน้นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของข้าราชการระดับสูงเป็นอันดับแรก ก่อน ทั้งนี้ ได้มีการจัดงานการสัมมนาระดมความคิดเห็นจากบรรดาข้าราชการ หน่วยงานราชการ องค์กรอิสระ และได้รับแนวคิดจากอดีตข้าราชการระดับสูงผู้มีประสบการณ์ตรง จนได้มาตรการที่เป็นรูปธรรมในระดับหนึ่งแล้ว และผู้เขียนคาดว่าในปีหน้าเมื่อมาตรการถูกนำไปปฏิบัติจริงแล้ว ก็น่าจะมีผลกระทบในระดับหนึ่งสำหรับผู้ที่คิดจะคอร์รัปชันด้วยวิธีการนี้


สุดท้ายนี้ ในนามของตัวแทนผู้เขียนในคอลัมน์ "ภูมิคุ้มกันคอร์รัปชัน" ทุกท่าน ขอขอบคุณท่านผู้อ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ผู้ติดตามอ่านคอลัมน์ "ภูมิคุ้มกันคอร์รัปชัน" ทุกๆ ท่าน ที่กรุณาให้คำติชม ทั้งยังได้ให้ทัศนะวิจารณ์ในมุมมองที่หลากหลาย อันเกี่ยวกับการพัฒนาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้มีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และในวารดิถีปีใหม่นี้ ผู้เขียนคอลัมน์นี้ทุกท่าน ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย และพรอันประเสริฐ จงได้สถิตและอำนวยพรแด่ทุกท่าน ด้วยเทอญ



ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จับตาการรถไฟ ทิศทางถูก หลักการผิด

โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ในที่สุด กระทรวงคมนาคมก็สามารถคลอดแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นแผนใหม่ล่าสุดออกมาได้สำเร็จ โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แผนนี้ถูกมองว่า เป็นการถอยกันคนละก้าวระหว่างสหภาพการรถไฟกับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ สหภาพอาจยอมให้ฝ่ายบริหารตั้งบริษัทลูกที่เรียกว่าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเป็นรถไฟที่เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองได้ แต่ในส่วนของ 1. การบริหารจัดการเดินรถ 2. การบริหารด้านทรัพย์สิน และ 3. ฝ่ายการช่างกลและซ่อมบำรุงจะตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สำหรับแผนพัฒนา ร.ฟ.ท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. การปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัย อาทิเช่น การปรับปรุงความแข็งแรงของราง การจัดหาหัวรถจักรใหม่ ฯลฯ 2. การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น เส้นทางบัวใหญ่-มุกดาหาร-นครพนม และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 3. การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) ในระบบรางมาตรฐาน แผนงานใหม่ของการรถไฟมีความน่าสนใจ คือ

1. จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบูรณะเส้นทางเดิม 2,272 กิโลเมตร และเพิ่มเติมหัวรถจักร เป็นวงเงิน 46,000 ล้านบาท

2. ขยายโครงข่ายสายใหม่ คือ สิงคโปร์-คุนหมิง เชื่อมเส้นทางฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ เชื่อมรถไฟสายปอยเปต-ศรีโสภณ และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเชื่อมกับประเทศจีน จำนวน 2,651 กิโลเมตร วงเงิน 392,348 ล้านบาท

3. เพิ่มทางคู่เร่งด่วน 5 ปีแรก (2553-2557) 767 กิโลเมตร วงเงิน 66,110 ล้านบาท ส่วนที่เหลือปี 2558-2567 ระยะทาง 2,272 กิโลเมตร วงเงิน 258,600 ล้านบาท

4. เร่งศึกษารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หนองคาย จันทบุรี และปาดังเบซาร์ 2,675 กิโลเมตร วงเงิน 708,855 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ

5. จะนำที่ดินของรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 234,977 ไร่ ออกมาให้เอกชนเช่า

ผมยังไม่แน่ใจว่าแผนยกเครื่องการรถไฟเที่ยวนี้ จะเดินหน้าไปอย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะ

ประการแรก ถึงแม้แผนนี้จะได้รับการยอมรับจาก ครม. เศรษฐกิจแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบรับในเชิงบวกจากสหภาพแรงงานแต่อย่างใด นี่ยังเป็นความเสี่ยงของการรถไฟในอนาคต

ประการที่สอง การปรับปรุงโครงสร้างและการขยายโครงข่ายสายใหม่จำนวนมหาศาลในไม่กี่ปีข้างหน้า ภายใต้งบประมาณมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใต้การบริหารงานของหน่วยธุรกิจจะมีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าการรถไฟจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสได้ตามที่สังคมคาดหวังไว้ ผมมีความวิตกว่าองค์กรบริหารงานที่มีวัฒนธรรมเป็นราชการ และมีกฎระเบียบที่ขาดความคล่องตัวจะบริหารธุรกิจขนาดนี้ได้อย่างไร ความเป็นราชการจะไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของโครงการข้างต้นหรือ

ประการที่สาม การบริหารที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ภายใต้หน่วยงานธุรกิจที่มีความเป็นราชการ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นขนมเค้กก้อนใหม่ของนักการเมือง กลุ่มอิทธิพล นักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟ หากไม่มีแผนงาน และกระบวนการจัดการที่ดีเพียงพอ

ผมคิดว่าขณะนี้ การเคลื่อนไหวยกเครื่องการรถไฟอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหา คือ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารของการรถไฟจะทำงานภายใต้ความคาดหวังนี้ให้ได้ดีได้อย่างไร ผมเกรงว่าถ้าหากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารไม่ระมัดระวังการบริหารจัดการในแต่ละขั้นตอนให้ดีเพียงพอ ก็อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน และกลายเป็นความล้มเหลวของการรถไฟ และระบบการขนส่งของประเทศไทยในท้ายที่สุด พูดอย่างตรงไปตรงมา ผมอดแปลกประหลาดใจไม่ได้ ที่แผนยกเครื่องการรถไฟซึ่งจะใช้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 สัปดาห์ ภายหลังจากที่เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในการรถไฟขึ้น หากเข้าใจไม่ผิด ผมเข้าใจว่าแผนฉบับนี้คงจะปรับปรุงขึ้นมาจากแผนของการรถไฟเดิมที่ได้ดำเนินการเอาไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น แผนการที่ดูดีขึ้นนี้ อาจขัดกับหลักการบริหารจัดการที่ดี ที่อย่างน้อยที่สุดที่การรถไฟควรมี คือ หลักที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วม ผมไม่แน่ใจว่าแผนฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือได้มีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิเช่น สหภาพรถไฟ กลุ่มผู้ใช้บริการ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เช่าที่การรถไฟ ฯลฯ มาให้ความเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากผู้บริหารการรถไฟไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการรถไฟ แผนของการรถไฟก็จะเป็นแผนที่ขาดความรอบด้าน มีแต่มิติทางด้านเทคนิค แต่ขาดมุมมองทางด้านสังคมและเสียงร้องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การบริหารโครงการต่างๆ ของรถไฟ โดยใช้หน่วยธุรกิจจะสามารถตอบคำถามในเรื่องหลักการที่ว่าด้วยประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการรถไฟให้ดีขึ้นได้หรือไม่และอย่างไร ผมคิดว่าผู้บริหารการรถไฟต้องตอบให้ได้ว่าทางเลือกในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการรถไฟมีกี่ทางเลือก และเพราะเหตุใดท่านจึงเลือกทางนี้ และทางเลือกนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนใช่หรือไม่ ท่านต้องตอบคำถามนี้เพื่อทำให้ หลักที่ว่าด้วยความโปร่งใส และ หลักที่ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ ต่อผลที่จะติดตามมาจากการตัดสินใจของท่าน จะได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

ส่วนหลักการสุดท้ายสำหรับการรถไฟ คือ หลักการควบคุมการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สหภาพรถไฟเกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร ฝ่ายบริหารควรอธิบายให้ชัดเจนว่าจะปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการทุจริตภายในองค์กรในอนาคตได้อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 23-11-52

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การเมืองเรื่องคอร์รัปชัน กับการล่มสลาย

โดย ศรัณย์ ธิติลักษณ์
ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

การปะทะกันเรื่องผลประโยชน์ในลักษณะของพฤติกรรม ที่มักอ้างเอาเหตุผลของผลประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ซึ่งเป็นของคนส่วนรวมในสังคม เริ่มมีภาวะที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาฝักฝ่ายคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ และรูปแบบของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ของบุคคลกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เริ่มมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็น "โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ" (tragedy of the commons) ซึ่งเกี่ยวข้องกับตรรกะของผลประโยชน์ (the logic of interest) จำนวนมากของผู้บริโภค และการจัดสรรทรัพยากรในสังคม

และครั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลั่นว่าให้ลูกพรรคเพื่อไทย ค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในฝ่ายรัฐบาลร่วมของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายในสภา อาทิเช่น ในเรื่องของการทุจริต นมโรงเรียน ทุจริตในโครงการรถเมล์ ทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข และทุจริตทุกรูปแบบที่มีข้อมูล นั่นแสดงให้เห็นว่า ประเด็นทางการเมืองที่ใช้อ้างและเป็นเครื่องมือที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดในการล้มรัฐบาลนอกจากการโจมตีด้านการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพแล้ว ก็คือ "เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล" (ซึ่งเป็นสูตรที่มักถูกหยิบยกมาใช้กล่าวอ้างได้ทุกยุค ทุกสมัย อย่างมีน้ำหนัก) ทั้งนี้ เพราะในทุกรัฐบาลจะมีเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดแฝงตัวอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าการคอร์รัปชันนั้นจะมีความชัดแจ้ง มีขนาดของวงเงินหรือการแพร่ขยายของการทุจริตมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีคอร์รัปชันแล้ว สิ่งที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีพูดถึงนั้น ชี้ให้เราเห็นได้ว่า เรื่องของการคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อย่างทั่วไป แม้ว่าจะมีกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ออกมาควบคุมพฤติกรรมที่น่ารังเกียจนี้แล้ว แม้ว่าสังคมจะตระหนักรับรู้ถึงความชั่วร้าย หรือผลกระทบของการคอร์รัปชันต่อประเทศแล้ว แม้ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานจำนวนมากที่คอยดูแลสอดส่องเรื่องนี้แล้ว ตลอดจนถึงขั้นที่ให้มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ก็ดูเหมือนว่าเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ มิได้ลดความสำคัญลงเลยแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการนำเอาเรื่องของการคอร์รัปชัน มาเป็นเครื่องต่อรองผลประโยชน์ของพรรคพวก และที่สุด ก็นำเอามาทำลายล้างกันในทางการเมือง เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับตน โดยจงใจที่จะละเลย และมองข้ามส่วนของผลประโยชน์สาธารณะ (ทั้งในรูปแบบที่เห็นเป็นตัวเงิน และในรูปแบบของต้นทุนทางสังคม) ของคนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียไปกับการต่อสู้ คัดง้าง และแย่งชิงผลประโยชน์กันเองของบุคคลจำนวนหนึ่ง โดยเขาเหล่านั้นจะคงเหลือไว้ซึ่งความล่มสลายของสังคมให้คนรุ่นต่อไปดูต่างหน้า

ที่จริงแล้ว การทำความเข้าใจในเรื่อง "พฤติกรรมที่มีเหตุผล" (rational behavior) ซึ่งเกิดจากการปะทะกันด้านผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ นั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ อธิบายได้จากพฤติกรรมของคนบางคน ซึ่งอาจคิดหาเหตุผลได้อย่างถูกต้องว่าตนเองจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระทำที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น แม้อาจจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายในทางจริยธรรมก็ตามที ผู้กระทำผิดทราบดีว่าพวกตนสามารถรอดตัวไปได้ แม้ว่าจะทำพฤติกรรมไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะผู้ถูกกระทำผิดมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ฝ่ายสูญเสียมักกระจายกันไปในหมู่คนจำนวนมาก ทั้งตัวผู้สูญเสียแต่ละคนในสังคมซึ่งมองโดยทั่วไปก็เสียประโยชน์ไปคนละเล็กน้อย มีขนาดไม่แน่นอน และดูว่าไกลตัวเกินไปสำหรับการต่อสู้เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์กลับมา (อาจต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ยาวนาน เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะซึ่งเป็นทรัพยากรของคนหลายๆ คน) ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมการคอร์รัปชันยังคงอยู่ และการต่อต้านคอร์รัปชันจึงมักล้มเหลว และแน่นอนในอนาคตภัยร้ายนี้ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสังคมในที่สุด

มากไปกว่านี้ จากอดีตจนปัจจุบันของสังคมใดๆ อาจกล่าวได้ว่า ยังมีเหตุผลอีก 3 ประการ ที่อาจทำให้สังคมเกิดความล่มสลาย (Social Collapse) ได้ นั่นคือ

หนึ่ง เกิดจากจุดเริ่มต้นของปัญหาบางอย่างที่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็น เนื่องจากปัญหาอาจเกิดขึ้นช้าๆ ภายใต้การผันผวนของสังคม

สอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาอยู่ห่างไกลพื้นที่ที่มีปัญหา หรือปฏิเสธข้อเท็จจริง (speculative) ในการตัดสินใจปัญหาซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตัดสินใจโดยอิงกับ "จิตวิทยาฝูงชน" (crowd psychology) และ

สาม ปัญหาอาจยากเกินกว่าขีดความสามารถ หรือศักยภาพในการแก้ปัญหาของคนในสังคมในปัจจุบัน

ผมไม่อยากเห็นสังคมไทย ต้องล่มสลายและเหลือแต่ความผุพังไว้ให้กับลูก หลานไทยในอนาคต ได้โปรดกรุณาหยุดทำร้ายชาติ หยุดการกระทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง และกลับมาเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของสังคมไทยในอนาคตดีกว่าครับ



เผยแพร่ครั้งแรกที่ : กรุงเทพธุรกิจ 09-11-52

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระทู้ถาม "การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน" (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

แหล่งข่าว ช่อง สทท. /FM 87.5 MHz

มีรายละเอียด ดังนี้

ประธาน : เชิญท่านอานิก อัมระนันทน์ ผู้ตั้งกระทู้ถาม เชิญ

อานิก : ค่ะ กราบขอบพระคุณท่านประธานเป็นอย่างยิ่งค่ะ เอ่อ ที่หาตัวท่านรัฐมนตรีมาฟังได้ค่ะ ดิฉัน อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ค่ะ เอ่อ ในวันนี้จะถามกระทู้นะคะ เรื่อง การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เอ่อ ขออนุญาตท่านประธานนะคะเป็นอารัมภบท อยากจะขอแสดงแผนภูมิ เมื่อกี้เช็คกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าอันนี้ไม่ต้องเคลียร์ข้างบนนะคะ เอ่อ โอ้โห ไม่ทราบจะโคลสอัพ ได้มั้ยคะกล้อง แผนภูมิอันนี้จะแสดงถึงผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับ..

ประธาน : ท่านได้ขออนุญาตหรือยัง

อานิก : เอ่อ ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ค่ะ

ประธาน : ครับ เปล่า ผมยังไม่เห็นเรื่องเลย เอ้า ผมอนุญาตครับ ไม่เป็นไร เชิญฮะ เร็วหน่อยก็แล้วกัน...อ่านต่อ